วันหยุดและเทศกาลในประเทศพม่า
วันที่ เหตุการณ์ ความสำคัญ
4 มกราคม วันเอกราช เป็นวันที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2491 หลังจากตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษถึง 60 ปี
12 มกราคม วันปีใหม่กะเหรี่ยง วันปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวันกินข้าวใหม่ของคนกะเหรี่ยงเป็นวันหยุดราชการที่พม่าให้การรับรอง
12 กุมภาพันธ์ วันสหภาพพม่า ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เมื่อนายพลอ่องซานร่วมลงนามสนธิสัญญาปางโหลงกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อจะร่วมกันปกครองประเทศหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษและถือเป็นวันชาติของรัฐฉาน (ไทยใหญ่) ด้วย
2 มีนาคม วันเกษตรกรพม่า เป็นวันยกย่องชาวไร่ชาวนาในฐานะผู้ผลิตอาหารเลี้ยงท้องผู้คนทั้งประเทศและในวันนี้ก็ถือเป็นวันที่นายพลเนวินปฏิวัติประเทศด้วยจึงมีการพาเหรดระลึกถึงเหตุการณ์นี้พร้อมกันไปด้วย
26 มีนาคม วันเพ็ญเดือนตะบองหรือวันสังฆะหรือวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระอรหันต์ 1,250 รูปมาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย การเฉลิมฉลองวันเพ็ญเดือนตะบองจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่เจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้ง
27 มีนาคม วันกองทัพ เป็นวันที่รำลึกถึงเหตุการณ์ร่วมมือกันระหว่างกองทัพกับประชาชนในการต่อต้านกองกำลังฟาสซิสต์ญี่ปุ่นซึ่งเริ่ม ณ วันที่ 27 มีนาคม ปี ค.ศ. 1945
12 – 21 เมษายน วันสงกรานต์หรือเทศกาล ‘ตะจาน’ (Thingyan) เป็นวันเฉลิมฉลองปีใหม่พม่าคล้ายกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน
1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันที่กำหนดตามอย่างสากลเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886
24 พฤษภาคม วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปริพนิพพาน
19 กรกฏาคม วันวีรบุรุษ เป็นวันที่นายพลอ่องซานและคณะผู้นำอีก 6 นายถูกลอบสังหารในขณะประชุมเตรียมการเพื่อเอกราช ณ ห้องประชุมรัฐมนตรีภายใน ‘อ่องซาน’ ถือเป็นวีรบุรุษที่ชาวพม่ายกย่องและภูมิใจ
22 กรกฏาคม วันเข้าพรรษาหรือวันเดือนเพ็ญวาโส (Waso) เป็นวันที่รำลึกถึงพระธรรมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าและเป็นจุดเริ่มต้นของวันเข้าพรรษา
19 ตุลาคม วันออกพรรษาหรือเทศกาลตะติ่งจุ๊ต (Thadinkyut) เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองการเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้า
18 พฤศจิกายน เทศกาลประทีปโคมไฟตะส่องดาย ในช่วงเทศกาลนี้จะมีการประดับประดาประทีปโคมไฟไว้ตามบ้านเรือน เป็นประเพณีที่ต่อเนื่องกับเทศกาลตะติ่งจู๊ดเพื่อเป็นการระลึกถึงครั้นพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่แดนมนุษย์
27 พฤศจิกายน วันประชาชน เป็นวันที่ระลึกถึงพลังประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920 เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งและวิทยาลัยจั๊ตสันได้นำการประท้วงคว่ำบาตรรัฐบาลอาณานิคมแล้วลุกลามไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ นับแต่นั้นมาก็มีการต่อสู้เรียกร้องเรื่อยมา
25 ธันวาคม วันคริสต์มาส เป็นวันฉลองวันประสูติของพระเยซูผู้เป็นศาสดาสูงสุดของศาสนาคริสต์ทั่วโลก
เทศกาล 12 เดือนของประเทศพม่า
เทศกาล ‘ตะจาน’ (Thingyan)

ตะจาน เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าแต่โบราณไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี โดยเล่นสาดน้ำให้กันและกันเหมือนประเพณีสงกรานต์ของอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อกำหนดวันขึ้นปีใหม่ให้สะดวกขึ้น วันขึ้นปีใหม่ของพม่าจึงกำหนดตามปฏิทินสากล จึงตรงกับเดือนเมษายน ตามปฏิทินสากล โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่เดิมทีทางการพม่าได้กำหนดระหว่างวันที่ 12 เมษายนจนถึงวันที่ 16 เมษายน เป็นวันหยุดราชการ แต่ปัจจุบันได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการไปจนถึงวันที่ 22 เมษายน

เทศกาลรดน้ำต้นโพธิ์

ในช่วงเดือนสองหรือเดือนกะโส่ง (เมษายน – พฤษภาคม) พม่ามีสำนวนว่า "ดะกูน้ำลง กะโส่งน้ำแล้ง" เดือนกะโส่งจึงเป็นเดือนที่แห้งแล้ง ภาวะอากาศในเดือนนี้ออกจะร้อนอบอ้าวกว่าเดือนอื่นๆ ชาวพุทธพม่าจึงจัดงานรดน้ำต้นโพธิ์กันในวันเพ็ญของเดือนกะโส่ง และถืออีกว่าวันนี้ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พม่าได้กำหนดเรียกวันดังกล่าวว่า วันพุทธะ ในวันนี้ชาวพุทธพม่าจะนิยมปฏิบัติบูชาตามวัดและเจดีย์ ด้วยการรักษาศีลและเจริญภาวนา วัดและเจดีย์จึงมีผู้คนไปทำบุญมากเป็นพิเศษ เดือนกะโส่งนับเป็นเดือนที่ฝนเริ่มตั้งเค้า ชาวนาจะเริ่มลงนา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก

เทศกาลท่องหนังสือพุทธธรรมสำหรับพระเณร

ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนหรือเดือนนะโหย่งเป็นเดือนเริ่มการเพาะปลูก ฝนฟ้าเริ่มส่อเค้าและโปรยปราย อากาศเริ่มคลายร้อน ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มแตกยอด โรงเรียนต่างเริ่มเทอมใหม่หลังจากปิดภาคฤดูร้อน เดือนนะโหย่งจึงนับเป็นเดือนเริ่มชีวิตใหม่หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเดือน ในสมัยราชวงศ์เคยจัดพิธีแรกนาขวัญในเดือนนี้ พม่าเรียกพิธีนี้ว่า "งานมงคลไถนา" ส่วนในทางศาสนา เคยเป็นเดือนสอบท่องหนังสือ พุทธธรรมสำหรับพระเณร กล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าตาหลุ่นมีงตะยา แห่งอังวะยุคหลัง ในอดีตจะสอบเฉพาะท่องหนังสือด้วยปากเปล่า แต่ปัจจุบันมีทั้งการสอบเขียนและสอบท่อง และได้ย้ายไปจัดในเดือนดะกูซึ่งเป็นเดือนแรกของปี

เทศกาลเดือน ‘หว่าโส่’

เดือนหว่าโส่ (มิ.ย.-ก.ค.) ถือเป็นเดือนสำคัญทางพุทธศาสนา ด้วยเป็นเดือนเข้าพรรษา พม่ากำหนดให้วันเพ็ญเดือนหว่าโส่เป็นวันธรรมจักรเพื่อน้อมรำลึกวันปฏิสนธิ วันออกบวช และวันปฐมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันนี้ชาวพุทธพม่าจะเข้าวัดทำบุญและนมัสการพุทธเจดีย์กันอย่างเนืองแน่น และถัดจากวันธรรมจักร คือ วันแรม ๑ ค่ำของเดือนหว่าโส่ จะเป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มจำพรรษาในเดือนนี้สาวๆพม่าในหมู่บ้านมักจะจับกลุ่มออกหาดอกไม้นานา เรียกรวมๆว่า ดอกเข้าพรรษาซึ่งขึ้นอยู่ตามชายป่าใกล้หมู่บ้าน เพื่อนำมาบูชาพุทธเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีการถวายจีวรและเทียนที่วัด กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งในเดือนหว่าโส่ คือ งานบวชพระ ด้วยถือว่าวันเพ็ญเดือนหว่าโส่นั้น เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้กับเบญจวัคคี ในอดีตนั้นพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ การบวชพระและเณรสำหรับผู้สอบผ่านพุทธธรรมตามที่จัดสอบกันในเดือนนะโหย่งที่ผ่านมา ฤดูฝนจะเริ่มในเดือนหว่าโส่ และในเดือนหว่าโส่นี้ยังเป็นเดือนลงนาปลูกข้าว เล่ากันว่าชาวนาจะลงแขกปักดำข้าวในนา พร้อมกับขับเพลงกันก้องท้องทุ่งนา

เทศกาลถวายสลากภัต

ในช่วงเดือน ‘หว่าข่อง’ (กรกฏาคม – สิงหาคม) เป็นเดือนกลางพรรษา และเป็นเดือนที่มีงานบุญสลากภัต พม่าเรียกว่า สะเยดั่งบแว แต่เดิมใช้การจับติ้ว ภายหลังหันมาใช้กระดาษม้วนเป็นสลาก ปัจจุบันการจัดงานบุญสลากภัตมีกล่าวถึงกันน้อยลง แต่กลับมีงานที่เด่นดังระดับประเทศขึ้นมาแทน คืองานบูชาผีนัตที่หมู่บ้านต่องปะโยง ณ ชานเมืองมัณฑะเล เดือนนี้เป็นเดือนที่ฝนมักตกหนักกว่าเดือนอื่น

เทศกาลแข่งเรือหรือ ‘รีกัตต้า’ (Regatta)

เดือนต่อดะลีง (ส.ค.-ก.ย.) เป็นเดือนน้ำหลาก น้ำตามแม่น้ำลำคลองจะขึ้นเอ่อเต็มตลิ่ง หลายท้องถิ่นจะจัดงานแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน และในเดือนนี้เช่นกันจะพบเห็นแพซุงล่องตามลำน้ำเป็นทิวแถว โดยเฉพาะในแม่น้ำอิระวดี แพซุงจะล่องจากเหนือสู่ปลายทาง ณ ท่าน้ำเมืองย่างกุ้ง และเดือนนี้อีกเช่นกันที่ชาวประมงจะเริ่มลงอวนจับปลา ด้วยเป็นเดือนที่มีปลาออกจะชุกชุมเป็นพิเศษ

เทศกาลประทีปโคมไฟ ‘ตะติ่งจุ๊ด’

ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคมชาวพม่าเรียกว่าเดือน ‘ตะตี่งจุ๊ด’ ในวันเพ็ญของเดือนนี้จะมีการทำปวารณาในหมู่สงฆ์ ชาวพุทธพม่าเรียกวันนี้เป็นวันอภิธรรม ด้วยเป็นวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ทรงเทศนาพระอภิธรรมตลอด ๓ เดือนในพรรษาที่ผ่านมา ชาวพุทธจะจัดงานจุดประทีปเพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีงานลอยโคมไฟ บางที่จะทำโคมลอยขนาดใหญ่เป็นรูปโพตู่ด่อ หรือปะขาว รูปช้าง และรูปเสือ เป็นอาทิ นัยว่าทำเพื่อบูชาพระธาตุจุฬามณี ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ในรัฐฉานจะมีงานบูชาพระเจ้าผ่องด่ออูซึ่งเป็นพุทธรูป ๕ องค์ ที่หมู่บ้านนันฮู ณ กลางทะเลสาบอินเล กล่าวกันว่าพระเจ้าผ่องด่ออูเป็นพระพุทธรูปที่มีมาแต่สมัยพระเจ้าอะลองสี่ตู่แห่งพุกาม ต่อจากวันอภิธรรมจะเป็นวันออกจากพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ ของเดือนตะติ่งจุ๊ต ในเดือนตะติ่งจุ๊ตนี้ยังจัดประเพณีไหว้ขมาต่อบิดามารดาและครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ชาวพม่ายังเริ่มจัดงานมงคลสมรสกันในเดือนนี้ โดยเริ่มจัดนับแต่วันแรม ๑ ค่ำ ของเดือนตะติ่งจุ๊ต ด้วยเชื่อว่าช่วงในพรรษานั้น กามเทพหรือเทพสัตตะภาคะจำต้องพักผ่อน จึงต้องเลี่ยงจัดงานแต่งงานในช่วงเวลาดังกล่าว จนกว่าจะพ้นช่วงพรรษา

เทศกาลทอดกฐินและประทีปโคมไฟ ‘ตะส่องดาย’

เดือนตะส่องโมง (ต.ค.-พ.ย.) เป็นเดือนเปลี่ยนฤดูจากหน้าฝนย่างเข้าหน้าหนาว กล่าวคือครึ่งแรกของเดือนจะเป็นท้ายฤดูฝน และครึ่งหลังของเดือนจะเป็นช่วงต้นหนาว ชาวนาจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวกันในเดือนนี้ ในทางพุทธศาสนานั้น เดือนตะส่องโมงถือเป็นเดือนสำหรับงานทอดกฐิน ซึ่งที่จริงพม่ากำหนดช่วงเวลาจัดงานทอดกฐินเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำกลางเดือนตะติ่งจุ๊ต จนถึงวันเพ็ญกลางเดือนตะส่องโมง รวมเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ในงานกฐินนี้จะมีการแห่ครัวทานที่พม่าเรียกว่า ปเดต่าบี่งหรือ ต้นกัลปพฤกษ์ และในวันสุดท้ายของฤดูกฐิน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญของเดือนตะส่องโมงนั้น ชาวพุทธพม่าจะมีการจัดงานจุลกฐิน พม่าเรียกจุลกฐินนี้ว่า มโตตี่งกาง แปลตามศัพท์ว่า "จีวรไม่บูด" เทียบได้กับอาหารที่ไม่ทิ้งให้ค้างคืนจนเสีย มโตตี่งกางเป็นกฐินที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว เริ่มแต่ปั่นฝ้ายให้เป็นด้าย จากด้ายทอให้เป็นผืนผ้า แล้วย้อมตัดเย็บเป็นจีวร ในเดือนนี้ยังมีพิธีตามประทีป และทอดผ้าบังสุกุล หรือปั้งดะกู่ อีกด้วย

เทศกาลเทิดเกียรติกวีและนักปราชญ์

เดือนนะด่อ (พ.ย.-ธ.ค.) เป็นเดือนที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวนา จะนวดข้าวและสงฟางสุมเป็นกอง เดิมเคยเป็นเพียงเดือนสำหรับบูชานัตหลวงหรือผีหลวงที่เขาโปปาแห่งเมืองพุกาม แต่ปัจจุบันพม่ากำหนดให้มีงานเทิดเกียรติกวีและนักปราชญ์ของพม่าแทน โดยจัดในวันขึ้น ๑ ค่ำ งานนี้เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ทุกๆปีจะจัดให้มีการอ่านบทประพันธ์และการเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรมกันตามสถานศึกษา และตามย่านชุมชนต่างๆ สำหรับในยุคราชวงศ์เคยถือเอาเดือนนี้จัดพระราชพิธีเพื่อมอบบรรดาศักดิ์ให้กับนักรบนักปกครอง ตลอดจนกวีที่มีผลงานดีเด่น ตัวอย่างบรรดาศักดิ์สำหรับนักรบมีเช่น เนมะโยเชยยะสูระ และมหาสีริเชยยะสูระ เป็นต้น ส่วนบรรดาศักดิ์สำหรับกวี อาทิ นัตฉิ่งหน่อง ปเทสะราชา ชเวต่องนันทะสู และเส่งตะจ่อตู่ เป็นต้น แต่เดิมนั้นเดือนนี้ยังเป็นเดือนสำหรับการคล้องช้างอีกด้วย

เทศกาลประลองยุทธ์

เดือนปยาโต่ (ธ.ค.-ม.ค.) เดือนนี้เป็นเดือนที่หนาวจัด กวีหญิงของพม่าสมัยคองบอง ชื่อแหม่เควฺ เคยบันทึกไว้ว่า "เดือนปยาโต่ หนาวเหน็บจนกายสั่น ผิงไฟยังมิอุ่น ห่มผ้าหลายผืนยังมิคลาย" ในเดือนนี้ชาวไร่ที่กำลังเก็บเกี่ยวงาจะต้องคอยเฝ้าระวังฝนหลงฤดู หากฝนตกลงมาในเวลาที่เก็บงา งาก็จะเสียหาย ชาวนาพม่าจะเรียกฝนที่ตกยามนี้ว่า ฝนพังกองงา ความหนาวเย็นจะล่วงมาจนถึงเดือนดะโบ๊ะดแวซึ่งเป็นเดือนถัดมา ในอดีตเคยจัดงานอัศวยุทธโดยมีการประลองยุทธด้วยช้างศึก ม้าศึก และการใช้อาวุธต่างๆ อาทิ ดาบ หอก เป็นต้น รัฐบาลพม่าเคยรื้อฟื้นจัดงานนี้ในปีท่องเที่ยวพม่า แต่ก็จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น

เทศกาลกวนข้าวทิพย์หรือ ‘ทะมะแน’ (Hta Ma Ne)

ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์เป็นเป็นช่วงที่ชาวพม่ารำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ทรงผจญต่อภัยหนาวเช่นกัน และเชื่อว่าการผิงไฟจะช่วยให้ธาตุ ๔ คืนสู่สมดุลย์ ชาวพม่าจึงจัดงานบุญบูชาไฟแด่พระพุทธและพระเจดีย์ซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า เรียกว่างานหลัวไฟพระเจ้า หรือ งานบุญไฟ ปัจจุบันยังคงมีงานบุญเช่นนี้เฉพาะในบางท้องที่ของพม่าตอนบน ในเดือนนี้ยังมีงานกวนข้าวทิพย์ ซึ่งจัดในช่วงข้างขึ้นของเดือน กล่าวว่าพม่าจัดงานนี้มาแต่สมัยญองยาง และในเดือนนี้อีกเช่นกันที่ชาวบ้านจะเริ่มเกี่ยวข้าวและปีนเก็บน้ำตาลสดจากยอดตาล ซึ่งพบเห็นทั่วไปในเขตพม่าตอนกลางและตอนบน

เทศกาลก่อเจดีย์ทราย

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม (เดือนตะบอง) ในช่วงนี้อากาศจะเริ่มคลายหนาว และเริ่มเปลี่ยนไปสู่ฤดูร้อนในช่วงหลังของเดือน ประเพณีสำคัญคืองานก่อเจดีย์ทราย โดยจะก่อทรายเป็นรูปจำลองเขาพระสุเมรุ ทำยอดซ้อนเป็น ๕ ชั้น พม่าเคยจัดประเพณีนี้ในยุคราชวงศ์ ปัจจุบันไม่นิยมจัดแล้ว ตามตำนานกล่าวว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่เริ่มมีการสร้างเจดีย์พระเกศธาตุหรือพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งตกในปีมหาศักราช ๑๐๓ (พม่าถือว่าปีนี้เป็นปีที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้)ชาวพม่าจึงกำหนดเดือนตะบองเป็นเดือนสำหรับงานบูชาเจดีย์ชเวดากองด้วยเช่นกัน เดือนตะบองนี้ถือเป็นเดือนสุดท้ายของปีตามศักราชพม่า

รู้จักพม่าตอนใต้
พม่าตอนใต้ (Southern Myanmar) แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ยังสงบ สะอาด บริสุทธิ์ และสะดุดตา อยู่ใกล้ชิดติดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ประกอบไปด้วย รัฐมอญ (Mon State) รัฐกะเหรี่ยง (Karen State) และเขตตะนาวศรี (Tanintraryi Division) เมืองเหล่านี้รุ่มรวยไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม จากดินแดนหุบเขาแห่งรัฐกะเหรี่ยงลัดเลาะผ่านแม่น้ำสาละวินถึงรัฐมอญ และทอดยาวสู่ขุนเขาตะนาวศรีไปจนถึงหมู่เกาะมะริด 800 เกาะ ด้วยพื้นที่ประมาณ 86,000 ตารางกิโลเมตร ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน 320 กิโลเมตรและประชากรราว 5,000,000 คน พม่าตอนใต้จึงเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวและนักสำรวจมิอาจมองข้ามไปได้ อ่านต่อ >>>