ที่ตั้ง

ทิศเหนือเป็นรัฐมอญและรัฐกะเหรี่ยง ติดเขตหงสาวดี (Bago Division) ทิศตะวันออกติดชายแดนไทย มีด่านที่สำคัญได้แก่ ด่านแม่สอด ด่านพุน้ำร้อน และด่านสิงขร ส่วนด้านทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและอ่าวเมาะตะมะ และทิศใต้ติดทะเลอันดามัน มีด่านระนอง - เกาะสอง เป็นจุดเข้า - ออกที่สำคัญ และมีพื้นที่ทั้งหมด 85,881 ตารางกิโลเมตร (53,675 ตารางไมล์)

ลักษณะภูมิอากาศ
พม่าตอนใต้ตั้งอยู่ในเขตมรสุมร้อน (Tripical Monsoon) จำแนกฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ช่วงนี้ฝนตกชุกโดยเฉพาะในเขตตะนาวศรี (Tanitharyi Division) เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเทือกเขาตะนาวศรีทำให้มีปริมาณน้ำฝนถึง 120 – 200 นิ้วต่อปีหรือ 1,300 มิลลิเมตรต่อเดือน จนได้ชื่อว่าฝนตกมากเป็นที่สามของโลก ส่วนฤดูหนาวนั้นอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์
ประวัติศาสตร์
ยุคแรกคือราชวงศ์สะเทิม (Thaton) ได้เข้าปกครองพม่าและบางส่วนของพม่าตอนใต้ และสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าอโนรธาหรือพระเจ้าอนิรุธแห่งพุกาม ยกทัพมาตีเมืองสะเทิมในสมัยพระเจ้ามนูหา อาณาจักรพุกามปกครองดินแดนพม่าได้ถึง 200 ปีก็ถึงกาลอวสานเพราะความอ่อนแอจากการถูกรุกรานของมองโกล

และต่อมามะกะโทหรือพระเจ้าฟ้ารั่วได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพม่าและสถาปนาราชวงศ์เมาะตะมะ – พะโค (Hanthawaddy Kingdom) ในยุคนี้ทวายและมะริดอยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัยแล้ว พระเจ้าฟ้ารั่วมีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์ของไทย มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ต่อมาในสมัยพญาอู ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี และต่อมาพระเจ้าราชาธิราชก็ขึ้นปกครองหงสาวดี ยุคสมัยนี้หงสาวดีกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โต ทางแถบอ่าวเบงกอล มีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่ง อาณาจักรมอญยุคนี้เจริญสูงสุดในสมัยพระนางเชงสอบูและสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้าทาคายุพินหงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

หลังจากนั้นมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนอง ก็ขึ้นปกครองราชวงศ์ตองอูและกลายเป็นมหาราชแห่งอุษาคเนย์ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้พม่าตอนใต้อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ตองอูโดยสมบูรณ์แล้ว แต่หลังจากสิ้นสุดยุคของพระเจ้าบุเรงนอง พม่าตอนใต้ก็ตกไปเป็นของสยามอีกครั้ง จนกระทั่งมาถึงยุคฟื้นฟู (The Restored Hanthawaddy Kingdom) ทวายหรือรู้จักกันในชื่อ ‘Tavoy’ ในยุคนี้ก็ตกเป็นของมอญอีกหน จนในปี พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญา ก็กู้อิสรภาพของพม่ากลับคืนมาได้ และได้ยืดคืนพื้นที่พม่าตอนใต้กลับไปเป็นของพม่าอีกครั้ง

ต่อมาในปีพ.ศ. 2367 เกิดสงครามอังกฤษ – พม่าครั้งที่ 1 (The first Anglo-Burmese War) และอังกฤษก็สามารถยืดครองพม่าตอนใต้ได้ทั้งหมดก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาปกครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี ในปีพ.ศ. 2491 พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษและในเวลาต่อมาเกิดความวุ่นวายทางการเมืองและสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ของพม่าตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 ถึงปีพ.ศ. 2549 กระทั่งมีการลงนามหยุดยิงในปีพ.ศ. 2555 และในปีต่อมา (พ.ศ. 2556) พม่าตอนใต้ก็เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้อย่างเสรี...
ประชากร
ประชากรของพม่าตอนใต้มีประมาณ 5-6 ล้านคน และมีหลากหลายชาติพันธ์ เช่น ชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง และชาวซาโลนหรือชาวมอแกนแต่ก็มีชาวไทยสยามอาศัยอยู่ทางใต้ของเขตตะนาวศรีด้วย ช่วงก่อนปีพ.ศ. 2394 มีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายลาวอพยพออกจากแดนไทยแถบจังหวัดราชบุรีหนืไปเมืองทวาย เมาะลำเลิง มะริด และตะนาวศรี หลังการเสียดินแดนในเขตตะนาวศรี ชาวไทยสยามที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จึงกลายเป็นประชาชนชาวพม่าและต่อมาก็พบชุมชนชาวไทยแถวเกาะสองและลุ่มน้ำตะนาวศรี นอกจานั้นยังมีชาวจีนฮกเกี้ยน ไทใหญ่และชาวว้าอาศัยอยู่ในเขตนี้เช่นเดียวกัน
ศาสนาและความเชื่อ
ประชากรส่วนใหญ่ของพม่าตอนใต้นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเช่นเดียวกับคนพม่าทั่วไปส่วนชาวพม่าเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามและพบว่าชาวกะเหรี่ยงหลายคนนับถือศาสนาคริสต์อันเนื่องมาจากการเผยแผ่ของมิชชันนารีในยุคอาณานิคม ส่วนชาวซาโลนหรือชาวมอร์แกนยังคงเป็นพวกนับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจานั้นชาวพม่าตอนใต้ยังมีความเชื่อเรื่องผีหรือนัต (Nat) เหมือนชาวพม่าทั่วไปด้วยเช่นกัน ชาวพม่าเชื่อว่านัตมีทั้งหมด 39 ตน
ภาษา
ในอดีตนั้นประชากรในเขตนี้ใช้ภาษาไทย ภาษามอญ ภาษากะเหรี่ยง และภาษามลายู ว่ากันว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นประชากรส่วนใหญ่ในเขตตะนาวศรีพูดภาษาสยาม ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของพม่าตอนใต้ใช้ภาษาพม่าในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม และเป็นภาษาราชการ แต่ก็พบว่าภาษาพม่าที่พูดกันในเขตตะนาวศรีนั้นมีสำเนียงท้องถิ่นที่ไม่เหมือนชาวย่างกุ้งพูดแต่อย่างใด นอกจากภาษาพม่าแล้วก็มีภาษามอญ ภาษากะเหรี่ยง และภาษาจีนด้วยเช่นกันเพราะที่พม่าตอนใต้มีชาวจีนฮกเกี้ยนอาศัยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
เทศกาล
เทศกาลส่วนใหญ่ที่เฉลิมฉลองกันในพม่าตอนใต้ก็คล้ายกับเทศกาลของคนไทย เช่น เทศกาลเดือน 5 หรือ ‘สงกรานต์’ ซึ่งชาวพม่าเรียกว่าเทศกาล ‘ตะจาน’ (Thingyan) ซึ่งตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ในเมืองไทย มีการสรงน้ำพระ เล่นสาดน้ำ และรดน้ำอบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

นอกจากนั้นก็มีเทศกาลออกพรรษาหรือเรียกว่า ‘ตะตินจุ๊ด’ (Thadingyut) ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งที่ทวาย มะริด และปะลอ (Palaw) จะมีการแห่พระพุทธรูป 28 องค์ไปรอบเมืองด้วย สำหรับชาวซาโลนหรือชาวมอร์แกนซึ่งอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะมะริดซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็กๆ ถึง 800 เกาะจะมีเทศกาลของตัวเองในเดือนกุมภาพันธ์ที่เกาะลัมปีหรือลาปี (Lapi) ซึ่งแปลว่า Full Moon ซึ่งจะมีการร้องรำทำเพลงและแข่งเรือ
รู้จักพม่าตอนใต้
พม่าตอนใต้ (Southern Myanmar) แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ยังสงบ สะอาด บริสุทธิ์ และสะดุดตา อยู่ใกล้ชิดติดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ประกอบไปด้วย รัฐมอญ (Mon State) รัฐกะเหรี่ยง (Karen State) และเขตตะนาวศรี (Tanintraryi Division) เมืองเหล่านี้รุ่มรวยไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม จากดินแดนหุบเขาแห่งรัฐกะเหรี่ยงลัดเลาะผ่านแม่น้ำสาละวินถึงรัฐมอญ และทอดยาวสู่ขุนเขาตะนาวศรีไปจนถึงหมู่เกาะมะริด 800 เกาะ ด้วยพื้นที่ประมาณ 86,000 ตารางกิโลเมตร ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน 320 กิโลเมตรและประชากรราว 5,000,000 คน พม่าตอนใต้จึงเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวและนักสำรวจมิอาจมองข้ามไปได้ อ่านต่อ >>>