ทวาย หรือ ดะแว เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี บนฝั่งแม่น้ำทวาย อยู่ห่างจากทะเลอันดามันราว 30 กิโลเมตร (18.6 ไมล์) และเป็นเมืองหลวงของเขตตะนาวศรีหรือตะหนิ่นต่าหยี่ (Tanintharyi Division) อยู่ห่างจากย่างกุ้ง 614.3 กิโลเมตร (381.7 ไมล์) มีประชากรประมาณ 200,000 คน แต่ อาจารย์ซอ ทูระ อดีตเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยทวายและเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมวิจัยทวาย และเคยร่วมทีมสำรวจทวายกับนักวิชาการระดับนานาชาติทางด้านโบราณคดี ศ.เอลิซาเบธ มัวร์ (Prof. Elizabeth Moore) ชี้ว่าทวายมีประชากรกว่า 8 แสนคน มีหลากหลายชาติพันธ์ ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาพม่าสำเนียงใต้ แต่ชาวทวายหลายคนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวนั้นพูดภาษาไทยได้ชัดเจนเพราะเคยมาทำงานที่เมืองไทย
ทวายสูญเสียเอกราชในสมัยพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงค์ ‘คอนบอง’ คนทวายอพยพมาจากรัฐยะไข่ เรียกตัวเองว่า ‘ดะแว’ ในช่วงสมัยอังกฤษปกครอง ทวายถือเป็นสถานที่พักตากอากาศทางภาคใต้ของพม่าที่ขึ้นชื่ออีกเมืองรองจากหาดงาปาลี (Ngapali) แห่งรัฐยะไข่ นอกจากนั้นทวายยังเป็นศูนย์กลางค้าขายทางทะเลมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคทวารวดี ทวายนั้นเคยรุ่งเรืองมาก่อนตั้งแต่ยุคอดีตก่อนที่เมืองนี้จะถูกซ่อนเร้นจากโลกภายนอกคล้ายดินแดนที่สาบสูญภายใต้นโยบายปิดประเทศของรัฐบาลพม่าเมื่อ 50 ปีก่อน
วันนี้ทวายปรากฏตัวอีกครั้งในวันที่พม่าเปิดประเทศและความรุ่งเรืองในอดีตนั้นเริ่มปรากฏขึ้นอีกหน ตึกรามบ้านช่องสมัยเก่ายังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วเมืองทวาย วัฒนธรรมการอยู่การกินที่ยังคงไว้เหมือนเดิม ความงดงามที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ลำธารใสไหลเย็น สายน้ำแห่งเผ่าพันธุ์ ชายหาดที่เงียบสงบ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และวัฒนธรรมประเพณีที่ตรึงตรา สิ่งสวยงามเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีแห่งการเปลี่ยนถ่ายสู่โลกสมัยใหม่ในอีกไม่ช้า การออกค้นหาทวายในวันที่โลกาภิวัตน์ยังไม่คลอบงำทั้งสังคม เราจะสัมผัสอดีตของสังคมไทยอย่างน่าอัศจรรย์แล้วเราจะพบว่าความจริงแล้วอดีตไม่ได้หายไปไหน แต่มันอยู่ในใจของเรานั่นเอง
ทวายอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 350 กิโลเมตร การเดินทางมาเมืองทวายในสมัยก่อน จะต้องนั่งเครื่องบินมาลงที่ย่างกุ้งแล้วต่อสายการบินภายในประเทศหรือนั่งรถโดยสารมาที่ทวายเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถเดินทางมาเมืองทวายผ่านด่านบ้านพุน้ำร้อน ต. บ้านเก่า อ.เมือง จ. กาญจนบุรีหรือทางด่านแม่สอดได้เลย
ทางรถ: จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้านข้าง Century the Movie Plaza มากาญจนบุรีจากนั้นขึ้นรถตู้หรือรถโดยสารที่บขส. กาญจนบุรีมาด่านบ้านพุน้ำร้อนแล้วซื้อตั๋วรถโดยสารหรือเหมารถตู้จาก Counter Service ของตรีทวายทัวร์มาทวาย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง
ทางอากาศ: นั่งเครื่องจากกรุงเทพฯ มาลงที่ สนามบินมินกลาดง แห่งเมืองย่างกุ้งก่อนเปลี่ยน Flight เป็นสายการบินภายในประเทศเดินทางต่อมายังเมืองทวายหรือจะขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร อ่องมิงกาหล่า (Aung Mingalar) หรือขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟย่างกุ้งซึ่งจะผ่านเมืองต่างๆ เช่น พะโค (หงสาวดี), มะละแหม่ง, มูเดิง, ตันบูซายัด, เย, และทวาย
หมายเหตุ: เส้นทางรถไฟระหว่างเมืองเยกับเมืองทวายเป็นเส้นทางเก่าและทรุดโทรมทำให้รถไฟวิ่งได้ช้ากว่าปกติ ว่ากันว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่วิ่งช้าที่สุดในประเทศพม่า
เป็นวัดที่มีพระเจดีย์องค์ใหญที่สุดในเมืองทวายและเป็นหนึ่งในวัดที่ชาวทวายเคารพศรัทธามากที่สุด ตามตำนานกล่าวว่าพระเจ้านรุติ (Naruti) กษัตริย์ปกครองเมือง Auang Thawaddy ทรงบรรจุพระสารีริกธาตุไว้ที่พระเจดีย์องค์นี้เมื่อ พ.ศ. 1250 (ค.ศ. 707) องค์พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบมอญขนาดใหญ่ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปโลกะมารชินปางมารวิชัย อายุ 141 ปี ในช่วงปีพ.ศ. 2417 ตรงกับสมัยสงครามอังกฤษ – พม่า ครั้งที่สอง และเมืองทวายยังเป็นเขตปกครองของอังกฤษ มีกลุ่มผู้เผยแผ่ศาสนาชาวทวายเดินทางไปเมืองมัณฑะเลย์เพื่อขอพระราชทานพระพุทธรูปจากพระเจ้ามินดงเพื่อ นำมาประดิษฐานที่เมืองทวาย พระเจ้ามินดงจึงพระราชทานพระพุทธรูปทองเหลืองเก่าแก่องค์นี้ให้ วัดนี้ก่อสร้างเมื่อพ.ศ. 2304 มีอายุมากกว่า 250 ปี ชาวทวายนิยมไปกราบไหว้ขอพรที่วัดพระเจดีย์ หลวง ในเวลาเย็นและที่วัดแห่งนี้จะมีพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุโบราณต่างๆ มากมาย อาทิ หินทะนาคา ปืนใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปสำลิดศิลปะแบบไทยและดาบสมัยโบราณ
วัดพระนอนแห่งนี้ตั้งอยู่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Saung Nan Byin ตามเส้นทางไปเมืองมะริด ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระนอน โลกะ ตระภู มีความยาวถึง 74 เมตร สูง 21 เมตร ถือว่าเป็นพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดของทวาย และใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศพม่าเป็นรองแค่องค์พระนอนวินเส่งตอยะที่เมืองมูเดิงในรัฐมอญเท่านั้น องค์พระนอนแห่งนี้จะมีรอยกระสุนปืนอยู่ตามองค์พระพุทธรูปซึ่งเกิดจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่มาส่องสุมกองกำลังอยู่ในท้องพระนอนองค์นี้และกองกำลังรัฐบาล ผลการปะทะกัน ฝ่ายรัฐบาลสามารถขับไล่กองกำลังคอมมิวนิสต์กลุ่มนี้ไปได้และสั่งให้มีการปิดทางเข้าออกทุกด้านขององค์พระพุทธรูปดังกล่าว บริเวณเดียวกันนั้นจะมี เทพทันใจ หรือ นัตโบโบจี ซึ่งเป็นเทพสูงอายุใจดีที่คนพม่าและคนมอญให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
เป็นวัดที่ตั้งอยู่ที่ แหลม ชิน มอ ตอง (Dawei Peninsula) ติดทะเลอันดามันอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายไปทางใต้ประมาณ 40 ไมล์หรือ 64 กิโลเมตร ตามตำนานกล่าวว่าวัดนี้สร้างโดยพญานาคองค์หนึ่งและเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก หากใครก็ตามที่มาขอพรที่วัดแห่งนี้และรักษาศีลอย่างมั่นคงภายใน 7 วัน คำอธิษฐานนั้นจะสมดังความปรารถนา ณ วัดพระเจดีย์ชินมอแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ (ฟันกราม) ของพระพุทธเจ้าและเป็นวัดที่มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองทวาย
เป็นวัดที่มีองค์เจดีย์แตกต่างจากเจดีย์พม่าทั่วไปเพราะมีแปดเหลี่ยมจนได้ชื่อว่า วัดพะยาชิตเหมี่ยว หรือ วัดเจดีย์แปดเหลี่ยม วัดแห่งนี้ตามตำนานกล่าวว่าสร้างโดยแปดพี่น้องชาวไทยเพราะมีสัญลักษณ์พระยาครุฑติดไว้ที่องค์เจดีย์แห่งนี้ด้วย และภายในพระอุโบสถก็จะมีพระพุทธรูปศิลปะไทยและมีบัวหัวเสาประดับไวด้วยเช่นกัน เจดีย์พะยาชิตเหมี่ยวตั้งอยู่ตรงข้ามโรงงานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ขึ้นชื่อของทวายและอยู่ไม่ไกลจากตลาดร้อยปี
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเกาะลอยเซปิ่นต้องเดินข้ามสะพานไปประมาณ 150 เมตร ใกล้กับหมู่บ้าน กาน หนี่ซึ่งแปลว่าหมู่บ้านตะขาบอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 26 กม.พระเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาของพระพุทธเจ้าและเป็นจุดชมวิวทะเลอันดามันที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองทวาย คำว่า เหม่วยิท แปลว่า รอคอย ตามตำนานเล่าว่ามีชายหนุ่มนักรบรูปงามคนหนึ่งพลัดหลงเข้ามาที่เกาะลอยเซปิ่นแห่งนี้และได้พบเจอหญิงสาวคนหนึ่งจากหมู่บ้านกานหนี่ ทั้งสองตกหลุมรักซึ่งกันและกันแล้วในที่สุดก็อาศัยอยู่ด้วยกันแต่แล้ววันหนึ่งชายหนุ่มต้องออกรบอีกครั้งและสัญญากับหญิงคนรักว่าจะกลับมาหาในเร็ววัน หญิงสาวรอคอยคนรักอยู่ที่เกาะลอยแห่งนี้ทุกวี่วันแต่ก็ไม่มีวี่แววว่าชายหนุ่มจะกลับมาเสียที จากวันเป็นเดือน แล้วจากเดือนก็ผันเป็นปี สุดท้ายหญิงสาวก็ตรอมใจตายเพราะทนรอคนรักกลับมาไม่ได้เสียแล้ว ทำให้เจดีย์แห่งนี้ได้ชื่อว่า เหม่วยิท หรือ เจดีย์แห่งการรอคอย นั่นเอง และชาวทวายเชื่อกันว่าถ้าหากคู่รักไหนได้มาเที่ยวที่เกาะลอยแห่งนี้ จะทำให้พลัดพรากจากกันได้เหมือนดั่งชายหนุ่มและหญิงสาวคู่รักในตำนาน...
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขาที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม เป็นสถานที่ประดิษฐานพระเกศาของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ในอดีต การเดินทางไปวัดนี้ใช้ถนนสายแปดหรือเอเชียเส้น AH 112 (เส้นทวาย – ย่างกุ้ง) จะวิ่งผ่านแม่น้ำทวายซึ่งไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ณ เมือง Kanbauk เมืองที่อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวายประมาณ 80 กิโลเมตรและบริษัทปตท.ใช้เป็นจุดวางท่อก๊าซธรรมชาติตามโครงการยาดานาในอ่าวเมาะตะมะ ณ บริเวณวัดแห่งนี้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำทวายและผืนป่าอันเขียวขจีแห่งขุนเขาตะนาวศรีได้อย่างชัดเจนและตรงข้ามนั้นก็เป็นเทือกเขาอีต่องฝั่งอ.ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรีนั่นเอง
เป็นหนึ่งในวัดที่ประดิษฐานรูปหล่อพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ล่วงไปแล้ว พระพุทธรูปดังกล่าวหล่อมาจากปูนผสมกับชิ้นส่วนของไม้ศรีมหาโพธิ์ต้นที่พระพุทธองค์ทรงประทับบำเพ็ญเพียรอยู่จนตรัสรู้ กล่าวกันว่ามี 4 องค์แล้วมีผู้นำมาประดิษฐานบนแพลอยตามน้ำทะเลมาจากศรีลังกา และมีองค์หนึ่งมาเกยตื้นอยู่ที่คลองซอวะ แล้วแม่ชีเหม่ เอตี่กับชาวบ้านแห่งหมู่บ้านชินโมทีมาพบเข้าจึงอธิษฐานอันเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดแห่งนี้ วัดชินโมทีอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1438 ตั้งอยู่ตรงกลางของเมืองโบราณนามโมกติสาคร ก่อนถึงวัดเจดีย์ชินโมทิพะยาแห่งนี้จะมีบ่อน้ำกษัตริย์อายุหลายร้อยปีตั้งอยู่ด้านขวามือของถนนและกลายเป็นบ่อน้ำสาธารณะที่ชาวบ้านมาใช้ตักอาบและดื่มกินกันอย่างสม่ำเสมอ
เป็นวัดที่อยู่ไม่ไกลจากบริเวณก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ตั้งอยู่ตรงหาดนาปูเล (Nabule Beach) และที่แห่งนี้เป็นจุดชมวิวทะเลอันดามันที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองทวาย ชายหาดที่นาปูเลสวยงาม หาดทรายขาว น้ำทะเลใส และในเวลาเย็นเหมาะกับการชมพระอาทิตย์ตกดินยิ่งนัก หรือมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ ปล่อยเรื่องทุกข์โศกทั้งหลายลงไปในทะเลอันดามันเบื้องหน้า เพราะที่นี่เงียบสงบ ลมพัดเย็นสบาย และชมความงามของทะเลอันดามันได้อย่างเต็มที่ ด้านล่างเป็นชายหาดที่มีหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่และมีเจดีย์องค์เล็กตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่บนนั้น เป็นภาพที่มีมนต์ขลังของความโดดเดี่ยวและสงบสุขภายใน ฟังเสียงคลื่นซัดสาด เสียงนกขับขาน ทำให้พลังความสดชื่นกลับมาได้อย่างเต็มแม็กซ์อีกครั้ง
เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองทวายและห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 30 กิโลเมตร ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่แห่งนี้และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้ ด้านหลังรอยพระพุทธบาทจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานและมีอยู่องค์หนึ่งที่มีการเคลื่อนที่ออกมาจากจุดที่ตั้งเดิม และพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อครอบรอยพระพุทธบาทไว้ก็มีการเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องที่นาอัศจรรย์ใจไม่น้อย
คำว่า ‘โออ่อ’ หมายถึง นกกาเหว่า ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวัดเจดีย์หลวง (พะยาจี) วัดเจดีย์ชินโออ๊อเป็น 1 ใน 9 วัดที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองทวาย ตามตำนานการสร้างเมืองทวายนั้นได้กล่าวถึงนกโออ่อหรือนกกาเหว่าไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนการเกิดขึ้นของเมืองทวายมีนกกาเหว่าตัวหนึ่งบินมาร้องส่งเสียงดังและทำนายกันว่าทวายจะเจริญในภายภาคหน้า บนถนนใกล้กับสนามกีฬาจังหวัด นักท่องเที่ยวจะเห็นรูปปั้นนกกาเหว่าตั้งโดดเด่นเป็นที่สะดุดตาแก่คนเดินทางผ่านไปมา และมีแนวโน้มชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าทวายกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว...
วัดเชเป่งคิ้วหรือวัดเชเป่งคยุแห่งนี้ เป็น 1 ใน 9 วัดที่เก่าแก่ที่สุดในทวาย และเล่ากันว่าครั้งหนึ่งเกิดไฟไหม้ใหญ่ในชุมชนละแวกวัดเชเป่งคิ้วและทุกบ้านได้รับความเสียหายเว้นแต่วัดเชเป่งคิ้ววัดเดียวที่รอดพ้นจากไฟไหม้หนนั้น สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ชาวเมืองทวายเป็นอย่างยิ่ง วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองทวายมีขนาดพื้นที่ไม่กว้างมากนักแต่โดดเด่นสวยงามน่าเลื่อมใสศรัทธา เล่ากันอีกว่าครั้งหนึ่งมีโจรเข้ามาขโมยเพชรประดับยอดฉัตรเจดีย์แห่งนี้แต่ก็พลัดร่วงลงมากระแทกกับพื้นได้รับบาดเจ็บ หนำซ้ำยังหาทางออกไม่เจอจนชาวบ้านพากันรุมจับตัวไว้ได้ สร้างความประหลาดใจแก่ชาวบ้านยิ่งนัก ทำให้เกิดแรงศรัทธามากยิ่งขึ้น
เมื่อออกจากตัวเมืองทวายไปทาง สะพานกะเมวแก ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำทวาย บนถนนสายสีแดงหรือที่เรียกว่าถนนนายพล (Bodyoke street) ก็จะไปถึงชายทะเลที่งดงามไม่แพ้ที่ใด และเป็นที่ตั้งของหาดมอมะกัน ซึ่งเป็นชายหาดที่ขึ้นชื่อที่สุดในพื้นที่เขตตะนาวศรีแห่งนี้ หาดมอมะกันมีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร มีต้นสนขึ้นเรียงรายเหมือนแต้มแต่งหาดมอมะกันให้งดงามมากยิ่งขึ้น ในสมัยยุคอาณานิคมอังกฤษ หาดมอมะกันเป็นสถานที่พักตากอากาศที่ขึ้นชื่อของพม่า มีเรื่องเล่าว่ามีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จทางเรือประพาสทะเลไปตามเกาะแก่งต่างๆ และผ่านมายังหาดมอมะกัน สนมนางหนึ่งรู้สึกชื่นชอบชายหาดจึงขออนุญาตลงเล่นน้ำที่นี่และพระองค์ก็ทรงอนุญาตโดยมีมหาดเล็กองค์หนึ่งคอยดูแล มหาดเล็กผู้นั้นนั่งรอนางอาบน้ำ จนรู้สึกเบื่อหน่ายและบ่นว่าอยากกลับบ้าน เพียงเท่านั้นเองก็เป็นเรื่องใหญ่ กษัตริย์ทรงกริ้วอย่างแรงและสั่งให้มหาดเล็กผู้นั้นรออยู่ที่เกาะนี้เพียงลำพัง ส่วนพระองค์กับผู้ติดตามที่เหลือต่างเสด็จกลับกันไปหมด เป็นเรื่องเล่าที่อาจฟังดูขำขันในมื้ออาหารซีฟู้ดยามเย็นที่ชายหาดแห่งนี้ หาดมอมะกันอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 16 กิโลเมตร
เป็นชายหาดที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในทวาย อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 19 กิโลเมตร และอยู่ในบริเวณเดียวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ชายหาดนาปูแลจะเห็นหาดทรายขาวละเอียดทอดยาวไปตามน้ำทะเลที่ใสสะอาด โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับวัดกะเหม่วจีเมื่อลงไปด้านล่างจะเห็นเจดีย์ตั้งอยู่บนโขดหินและหาดทรายที่ซุกซ่อนความงามอยู่ ณ บริเวณนั้น บรรยากาศเงียบสงบและสัมผัสถึงความตื่นใจยามพระอาทิตย์กำลังลาลับฟ้าในฟากฝั่งทะเลอันดามันแห่งพม่าตอนใต้
เป็นเกาะเล็กๆ ห่างจากชายฝั่งราว 200 เมตร มีทางเดินเป็นคอนกรีตเชื่อมระหว่างตัวเกาะกับชายฝั่ง ซึ่งสามารถมองเห็นหาดมอมะกันที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้อย่างชัดเจน บนเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดเหม่วยิทซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระเกศาของพระพุทธเจ้า ระหว่างทางมาที่เกาะลอยเซปิ่นหรือวัดเหม่วยิทแห่งนี้จะผ่านชายหาดที่มีชื่อว่า San Maria Bay ซึ่งเป็นชายหาดที่มีความยาว 3 กิโลเมตรและหมู่บ้านชาวประมง
หาดมิ้นควาอ่อหรือหาดฝ่าเท้าม้าที่มีชื่อเช่นนั้นเพราะบริเวณดังกล่าวเป็นชายหาดที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเท้าม้าอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อมองจากภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Earth บริเวณชายหาดแห่งนี้เงียบสงบและมีเกสท์เฮ้าส์เล็กๆ ตั้งอยู่ตรงนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ไกลจากหาดมิ้นควออ่อจะเป็นเจดีย์ชินมอที่สวยงามติดทะเลอันดามัน หาดมิ้นควออ่ออยู่ทางทิศใต้ของเมืองทวาย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 48 กิโลเมตร
ตลาดร้อยปีหรือตลาดเซจี เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองทวายและเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองทวาย เป็นตลาดใหญ่ที่เปิดตั้งแต่เวลาประมาณ 08:00 น. ไปจนถึงเวลาประมาณ 15:00 น. เปิดขายทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ที่เปิดเฉพาะช่วงเวลาเช้าเท่านั้น ที่ตลาดร้อยปีแห่งนี้มีสินค้าท้องถิ่นให้เลือกซื้อหามากมาย เช่น แป้งทะนะคา โสร่ง ขนมพม่า ชาพม่า ปลาแห้ง กุ้งแห้ง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น เหมาะสำหรับการซื้อของฝาก ของที่ระลึก ก่อนเดินทางกลับบ้าน
หรือมีชื่อเป็นทางการว่า อนุสาวรีย์กองทัพเอกราชพม่า (Burmese Independent Army หรือ BIA) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่าได้จัดตั้งกองทัพอิสระหรือกองทัพเพื่อความเป็นเอกราชขึ้นใช้ชื่อย่อว่า BIA กองทัพนี้ส่วนหนึ่งได้รับการฝึกฝนจาก ญี่ปุ่นโดยพม่าจัดส่งทหารฝีมือดี 30 คนไปเข้ารับการอบรมที่ญี่ปุ่นรู้จักกันดีในชื่อ “Thirty Comrade” หรือสามสิบวีรชน ซึ่งนายพลอูอองซานเป็นหนึ่งใน Thirty Comrade และได้ต่อสู้กับอังกฤษแต่สุดท้ายนายพลอ่องซานก็ได้ร่วมกับอังกฤษขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากพม่าและเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังได้รับเอกราชแล้ว นายพลอ่องซานก็ได้ร่วมลงนามสัญญาปางโหลงกับชนกลุ่มน้อยแต่ก็มาถูกลอบสังหารและเสียชีวิตในวัยเพียง 32 ปีเท่านั้น นายพลอ่องซานถือเป็นวีรบุรุษคนสำคัญที่คนพม่านับถือมากที่สุด จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของนายพลท่านนี้ขึ้นตามเมืองต่างๆ และประกาศให้วันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการเพื่อรำลึกถึงวันที่นายพลอ่องซานและคณะผู้นำอีก 6 นายถูกลอบสังหาร
‘ซาคาร่า’ แปลว่าเมืองสาครหรือสายน้ำในภาษาบาลี อยู่ทางเหนือของเมืองทวายปัจจุบันและอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำทวาย ที่แห่งนี้มีการขุดพบซากโบราณสถานที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘วัง’ ทางฝั่งทิศเหนือทำให้เห็นอาคารในรูปแบบศาสนสถานชุดหนึ่ง นักวิชาการบางท่านจัดอยู่ในช่วงยุคเพี่ยวหรือพยู่ ซึ่งกำหนดอายุราว ๖-๑๔ แต่เมื่อเห็นหลักฐานทางโบราณคดี อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ประเมินคร่าวๆ ว่าอาจจะอยู่ในช่วงยุคปลายของยุคพยู่แล้ว ส่วนอิฐที่พบมีหลายรูปแบบทั้งขนาดใหญ่และเล็กลงมาเล็กน้อยและหลายก้อนมีร่องรอยลายสัญลักษณ์ประทับอยู่หลายแบบ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุหลายชิ้นที่ต่อเนื่องกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัดต่างๆ ลูกปัดแก้วหลายสี และบางชิ้นเป็นหินอาเกต พบแผ่นหินมีรูปสลักอาจจะเป็นพระศรีหรือพระลักษมีก็เป็นได้ พระพุทธรูปนั่งปางประทานอภัยขนาดเล็กๆ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของเมืองทวายซึ่งคล้ายกับพระพุทธรูปนั่งศิลาขนาดใหญ่พบที่วัฒนธรรมทวารวดีแบบภาคกลางของไทยหรือจันทิเมนดุต เกาะชวา ใกล้กันนั้นจะเป็นเจดีย์ชินซาโลน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 เจดีย์ที่คนทวายเรียกว่า ‘ชินโกชิน’ เจดีย์แห่งนี้บรรจุพระเกศาธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมอญ บนลานรอบเจดีย์มีรูปประติมากรรมหลายรูปที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานการสร้างเมือง เช่น รูป ฤาษีโควินนันทะ รูปเทพนัตงาโกมะ รวมทั้งชิ้นส่วนโบราณสถานที่เป็นศิลาแลงหลายชิ้น
มหาวิทยาลัยทวายแห่งนี้ตั้งอยู่ทางไปหาดมอมะกัน พอขับรถข้ามสะพานกะเมวแกมาได้ประมาณ 200 เมตรก็จะเห็นทางเข้าของมหาวิทยาลัยอยู่ด้านซ้ายมือ มหาวิทยาลัยทวายถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของเขตตะนาวศรี นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวทวายและมีบางส่วนที่มาจากเมืองมะริดและเมืองเกาะสอง มหาวิทยาลัยทวายแห่งนี้มีนักศึกษาประมาณ 5,000 คนและเปิดสอนทั้งหมด 5 สาขาวิชา เสน่ห์ของมหาวิทยาลัยทวายคือตึกอาคารเก่าๆ ที่ดูขรึมขลังสวยเท่ห์ในสไตล์ทวายและการแต่งตัวของเด็กสาวนักศึกษาที่ยังนุ่งผ้าซิ่นทาแป้งทะนาคา ดูสดใสสวยเด่นเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของพม่าตอนใต้
ตามตรอกซอกซอยในทวายจะเห็นอาคารสไตล์โคโลเนียลอยู่หลายหลังและส่วนใหญ่นั้นก็ใช้เป็นที่ทำการรัฐและโรงแรม และบ้านทรงท้องถิ่นอายุ 80 – 100 ปีก็มีให้เห็นอยู่ตามถนนหนทาง แม้ระยะหลังมานี้จะมีเปลี่ยนเป็นอาคารพาณิชย์หรือถูกรื้อทิ้งไปบ้างก็ตาม ตึกที่โดดเด่นมากที่สุดคือตึกที่ทำการเขตตะนาวศรีซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองทวายบนถนนอาซานีและที่ทำการเทศบาลเมืองทวาย ส่วนบ้านเก่าๆ ของชาวทวายหลายหลังที่มีรูปทรงในลักษณะเดียวกันนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างแต่นับวันก็น้อยลงทุกทีเพราะทางรัฐบาลได้ประกาศอนุญาตให้ประชาชนสร้างบ้านตึกแบบสมัยใหม่ได้แล้ว
ถนนต้นตาลในทวาย...ว่ากันว่านี่คือสัญลักษณ์ของทวาย ก่อนเข้าเมืองทวายจะมีถนนต้นตาลยืนต้อนรับนักเดินทางอยู่สองฟากฝั่งถนน แต่เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้ถนนเส้นนี้เริ่มเปลี่ยนไปเพราะมีการขยายถนนให้กว้างขึ้นทำให้ทางการต้องตัดต้นตาลทิ้งไป ถนนหลายเส้นที่ออกจากเมืองทวาย มีต้นตาลใหญ่ยืนเรียงรายเป็นแถวยาวเหยียดยืนตลอดสองข้างทาง ถนนต้นตาลกับภาพวัวเทียมเกวียนและรถม้าวิ่งบนถนนต้นตาลผ่านทุ่งนาเขียวชอุ่มเป็น เหมือนฉากในนิยายยุคก่อนของเมืองไทยที่หาดูไม่ได้อีกแล้ว แต่กลับมีให้เห็นในยุคนี้ที่เมืองทวาย (โดยโลมาอิรวดี)
ทวายเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับทะเลอันดามัน จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเลและความเป็นธรรมชาติ บ่อกุ้งมังกรที่ใหญ่ที่สุดในทวายอยู่ใกล้กับหาดมอมะกัน เจ้าของบ่อเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนและพูดไทยได้บ้าง ที่บ่อกุ้งมังกรแห่งนี้นอกเหนือจากกุ้งมังกรแล้วยังมีกั้งอยู่ด้วย ชาวประมงจะนำกุ้งมังกรและกั้งมาขายให้กับทางบ่อจากนั้นก็จะพักไว้ประมาณ 3-4 วันเพื่อจะทำการส่งไปขายต่อที่ย่างกุ้ง โดยการทำการน๊อกกุ้งมังกรให้สลบไปจากนั้นก็ขนถ่ายทางเครื่องบิน ราคากุ้งมังกรขึ้นอยู่กับฤดูกาลแต่ถ้าเทียบกับเมืองไทยแล้วราคาก็ถือว่าไม่แพงมากนัก
ตลาดสะพานปลาโบซิกแห่งนื้ถือว่ามีกลิ่นอายความเป็นตลาดปลาแบบเก่าอยู่เป็นอย่างมาก ชาวประมงจะนำปลาที่จับได้มาวางขายบนชายหาดที่หมู่บ้านโบซิกซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ 20 กิโลเมตรตั้งแต่เวลาตีสี่ตีห้าไปจนถึงเวลาประมาณเจ็ดโมงเช้า การวางขายปลาก็กองกันอยู่บนหาดทราย แล้วเวลาเลือกซื้อกันก็จะไม่มีตราชั่ง เลือกซื้อกันเป็นตัวๆ เป็นกองๆ กันอย่างนั้นเลยเชียว ส่วนราคาก็ต่อรองกันได้ตามสมควรและว่ากันว่ายิ่งสายราคาปลายิ่งถูกลง ส่วนปลาที่ดีหน่อยก็จะถูกคัดไปขายในเมืองหรือมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อต่อไป...ว่ากันว่าคนทวายกินปลาไม่แช่น้ำแข็งเพราะปลาที่ผ่านการแช่น้ำแข็งแล้วนั้นทำให้รสชาติอาหารด้อยลงไป