มะริดเป็นเมืองท่าเก่าแก่แห่งตะนาวศรี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพม่าบนเกาะที่เกิดจากตะกอนของปากแม่น้ำตะนาวศรี เป็นเมืองอุตสาหกรรมประมงและอู่ต่อเรือขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในพม่าและมีเกาะแก่งมากมายถึง 800 เกาะ มะริดมีชื่อเดิมเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘เมอร์กุย’ (Mergui) ส่วนชาวพม่าเรียกเมืองนี้ว่า ‘เมค’ (Myeik) แต่คนมะริดเรียกว่า ‘เบค’ (Byeik) มีประชากรประมาณ 250,000 คน ประชากรของเมืองมะริดประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานาน ทั้ง พม่า มอญ กะเหรี่ยง จีน มลายู และคนไทยพลัดถิ่น ที่นี่จึงมีศาสนสถานของพุทธ ฮินดู และคริสต์มากมาย อีกทั้งตึกรามบ้านช่องแบบโคโลเนียลซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม ที่น่าค้นหาอีกเมืองในพม่าตอนใต้
มะริดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 460 กิโลเมตร อยู่ห่างจากด่านสิงขร อ.เมือง จ. ประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 180 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากทวายราว 236 กิโลเมตร ถนนจากทวายไปมะริดเป็นถนนลาดยางตลอดสาย ส่วนถนนจากด่านสิงขรมามะริดนั้นอยู่ในช่วงของการก่อสร้างอยู่ (เมษายน 2559) และส่วนที่เสร็จแล้วนั้นก็เป็นถนนลาดยางสลับถนนคอนกรีต การเดินทางไปมะริดนั้นนอกจากทางรถแล้วเราสามารถเดินทางโดยเครื่องบินด้วยสายการบินภายในประเทศได้เช่นกัน
ทางอากาศ: ปัจจุบัน (2559) ยังไม่มีสายการบินพาณิชย์ของไทยให้บริการเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ – มะริด สำหรับสายการบินภายในประเทศพม่านั้น มีหลายสายการบินที่เปิดเส้นทางบินตรงจากเกาะสอง – มะริด, ย่างกุ้ง – มะริด และ ทวาย – มะริด เช่น สายการบิน APEX, Air KBZ, Myanmar Airways, Air Bagan และ Asian Wings เป็นต้น
ทางรถ: ปัจจุบัน (2559) นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถเดินทางไปมะริดผ่านด่านสิงขรได้แล้วโดยใช้แค่บัตรประชาชนยื่นขอหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) สามารถท่องเที่ยวอยู่ในมะริดได้ 7 วัน แต่ชาวต่างชาติที่ถือสัญชาติอื่นยังไม่สามารถเดินทางผ่านด่านสิงขรได้ในปัจจุบัน สำหรับอีกช่องทางหนึ่งคือเข้าทางด่านพุน้ำร้อนแล้วต่อรถจากทวายไปมะริดแต่ยังต้องใช้วีซ่าในการเข้าออกผ่านเส้นทางนี้ (2559)
ทางเรือ: สมัยก่อนเราสามารถนั่งเรือโดยสารจากเกาะสองมามะริด หรือจากทวายไปมะริดได้เช่นกัน แต่ปัจจุบันนี้ทางผู้ให้บริการเรือโดยสารอย่างบริษัท HIFI Express และ Fortune Express ได้หยุดวิ่งเส้นทางนี้แล้วเนื่องจากมีจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมากตลอดช่วงที่ผ่านมาสาเหตุมาจากการที่คนพม่าตอนใต้ส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเรือโดยสารเป็นแรงงานในเมืองไทยเลือกที่จะนั่งรถโดยสารออกทางด่านพุน้ำร้อนและด่านสิงขรมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการทั้งสองบริษัทต้องปิดตัวลงเมื่อต้นปี 2559
เจดีย์เตนดอจี (Thein Daw Gyi):เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของมะริด สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2274 พระเจดีย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาใจกลางเมืองมะริด พระเจดีย์ตอนล่างประดับทองคำเปลวส่วนยอดเจดีย์หุ้มด้วยทองคำหนัก 32 กิโลกรัมยอดฉัตรประดับด้วยอัญมณีมีค่ากว่า 3,000 ชิ้น บริเวณใกล้กันนั้นมีพระอุโบสถอายุมากกว่า 200 ปี และบูรณะสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครอง มีศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลย์ไลย์ ชาวมะริดเชื่อว่าหากได้สัมผัสพระบาทท่านแล้ว ความเจ็บไข้จะหายไปและมีเสาบัวแปดเหลี่ยมศิลปะแบบไทยอยู่ด้วย บนวัดแห่งนี้ท่านสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองมะริดได้ครบ 360 องศาและมีห้องสะสมโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น ดาบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเพชรประดับบนยอดฉัตรเจดีย์และเตพุหรือไม้ที่งอกเป็นก้อนหิน
วัดพระพุทธไสยาสน์อตูละ ชเวทัลเยือง (Atula Shwethalyaung): วัดพระนอนแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะปาเตท (Pa Htet) ใกล้กับเกาะปาถ่อง (Pa Htaw) การเดินทางไปวัดพระนอนจะต้องนั่งเรือข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งซึ่งมีเรือหลายลำจอดเรียกผู้โดยสารอยู่ตรงท่าเรือบนถนน Strand Road วัดพระนอนแห่งนี้มีความยาว 144 ศอก ถือว่าเล็กกว่าวัดพระนอนที่เมืองทวายซึ่งมีความยาวประมาณ 162 ศอก วัดพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในพม่าตอนนี้อยู่ทีเมืองมูเดิง (Mudon) ใกล้กับเมืองเมาะละแหม่ง มีชื่อว่าวัดพระนอนวิน เส่ง ตอว์ยะ (Win Sein Taw Ya) วัดพระนอนที่เมืองมะริดสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2498 ภายในองค์พระแบ่งเป็นห้องๆ แสดงพุทธประวัติและคำสอนของพระพุทธเจ้า วัดพระนอนแห่งนี้ยามค่ำคืนจะงดงามไปด้วยแสงไฟที่ประดับประดาไว้รอบพระพุทธรูปและมีพุทธศาสนิกชนชาวพม่าทุกเพศทุกวัยมาสักการะและท่องเที่ยวพักผ่อนกันทุกวัน
เจดีย์จำลองชเวดากองหรือเจดีย์มหาเตธิชายา (Maha Theidizaya Pagoda): เจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นโดยพลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ในปีค.ศ. 2008 โดยจำลองมาจากองค์มหาเจดีย์ชเวดากองที่ย่างกุ้ง ยอดเจดีย์สูงตั้งตระหง่านสะท้อนแสงไฟยามค่ำคืนเหลืองอร่าม ภายในวิหารโอ่โถงกว้างใหญ่ มีภาพวาดบอกเล่าเรื่องราวการก่อสร้างองค์พระเจดีย์ไว้รอบทิศ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการมาเยี่ยมชมเจดีย์มหาเตธิชายาจะเป็นช่วงเช้าและช่วงเวลาเย็น
เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจินนาไต่ ระหว่างเมืองตะนาวศรีกับเมืองมะริด อ้างอิงจากหนังสือประวัติของวัดซึ่งเขียนเป็นภาษาพม่าบอกว่าวัดนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2302 (ศักราชพม่า 1121---- ศักราชพม่าน้อยกว่าไทย 1,181 ปี) ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงค์คองบอง มหาราชองค์ที่ 3 แห่งประวัติศาสตร์พม่า วัดนี้สร้างขึ้นโดยคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาและถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่าอยู่นานถึง 133 ปีจนถึงปี พ.ศ. 2435 พระอุโบสถของวัดชเวเยเตาจึงถูกค้นพบอีกครั้ง จากนั้นชาวบ้านจึงร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูปในอุโบสถแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบไทยสมัยทวารวดี
ตามประวัติ วัดนี้สร้างในสมัยพระบรมราชาที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีอายุกว่า 640 ปี และพื้นที่รอบวัดเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนไทยในอดีต องค์พระประธานชื่อว่า ‘อะเซเต่ง’ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งมีศิลปะผสมผสานแบบตะนาวศรี นครศรีธรรมราช อยุธยา และพม่า
วัดนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2209 เจ้าอาวาสองค์ที่สองของวัดเป็นคนไทย ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะแบบไทยและแบบตะนาวศรี พระกรรณยาวถึงบ่าแบบอยุธยา พระพักตร์แบบนครศรีธรรมราชและจีวรจีบปลาย กระจายออกแบบพม่า ด้านหลังพระประธานประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์และด้านหน้าพระอุโบสถมีศิลาจารึกซึ่งสันนิษฐานว่า สลักเป็นภาษาล้านนาโบราณหรือภาษาพม่าโบราณ รอบพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 108 องค์แทนลูกประคำ 108 เม็ด ปัจจุบันวัดนี้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดปอดอมูเป็นวัดที่บูรณะขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2492 หลังจากยอดเจดีย์หักลงมาเนื่องจากฟ้าผ่า ตามตำนานกล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นโดยเทวดาภายหลังพระอรหันต์จำนวน 6 รูปได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้รับพระเกศาจำนวน 6 เส้นจากพระพุทธองค์เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในเจดีย์ ณ ดินแดนที่พระพุทธศาสนาจะมีอายุยาวนานถึง 5,000 ปี หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว พระอรหันต์จำนวน 6 รูปนั้นได้เดินทางมาถึงเขตตะนาวศรีและได้ให้เทวดาองค์หนึ่งสร้างเจดีย์ปอดอมูขึ้นพร้อมประดิษฐานพระเกศาธาตุจำนวน 1 เส้นไว้ในเจดีย์แห่งนี้ ส่วนที่เหลือก็นำไปประดิษฐานไว้ยังเจดีย์อื่นๆ ทั่วเขตตะนาวศรี ที่เจดีย์ปอดอมูแห่งนี้ยังมีเจดีย์องค์เล็กอีกองค์หนึ่งนามว่า เจดีย์อะล้อยแปลว่าเจดีย์แห่งความโศกเศร้า เชื่อกันว่าถ้าคู่รักไหนมาที่เจดีย์แห่งนี้แล้วอาจมีการเลิกราจากกันได้
หมู่เกาะมะริดหรือหมู่เกาะเมอร์กุย (Mergui Island): เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่จำนวน 800 เกาะที่ยังอุดมสมบูรณ์ทั้งบนบกและใต้ท้องทะเลและเป็นแหล่งดำน้ำที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก หมู่เกาะมะริดเป็นที่หมายใหม่ของนักล่องเรือยอชท์และผู้รักการผจญภัย เป็นความงดงามที่ยังสมบูรณ์อยู่รอให้นักเดินทางเข้าไปสัมผัส นอกจากความงามของธรรมชาติแล้ว ยังมีวิถีชีวิตของชาวเกาะ รวมถึงชาวเลหรือชาวมอร์แกน ‘ยิปซีทะเลแห่งหมู่เกาะมะริด’ ซึ่งเป็นเสน่ห์หนึ่งที่น่าหลงใหลไม่น้อย
เกาะโดม (Dome Island): เป็นเกาะที่มีชายหาดทอดยาว งดงามด้วยผืนทรายขาวนวลและน้ำตกไหลรินพร่างพรายเหมือนม่านหลังอันสวยงาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่เกาะมะริด นอกจากความงามของธรรมชาติ ยังเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์วิถีชีวิตของชาวเกาะที่เรียบง่าย อัธยาศัยไมตรีที่ดีและความเป็นมิตรตรึงตราจิต
อุทยานแห่งชาติเกาะลัมปี (Lampi National Park): เป็นเกาะยอดนิยมของนักท่องเที่ยวท่ามกลางหมู่เกาะมะริดจำนวน 800 เกาะ นอกเหนือจากความงดงามของน้ำทะเลและผืนทรายขาวละเอียดแล้ว เกาะลัมปียังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนป่าที่เขียวชอุ่มและสัตว์ป่านานาพันธุ์รวมทั้งความสวยงามแห่งท้องทะเลอันดามัน ทั้งปะการังและปลานานาชนิด
บ่อพักกุ้งมังกร ที่มะริด ตั้งอยู่ใกล้กับถนน Strand Road เป็นบ่อพักกุ้งมังกรแห่งเดียวในเมืองมะริด กุ้งมังกรที่บ่อแห่งนี้จะถูกเก็บไว้หนึ่งวันหลังจากรับซื้อมาจากชาวประมงก่อนทำการน็อคแล้วบรรจุใส่กล่องเพื่อส่งไปขายที่เมืองไทยผ่านทางเกาะสองและเข้าทางจังหวัดระนอง ราคากุ้งมังกรมีการปรับขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากกุ้งมังกรแล้วที่บ่อแห่งนี้มีกั้งด้วยเช่นกัน
มะริดได้ฉายาว่า “ไข่มุกงามเม็ดใหม่แห่งอันดามัน” เพราะที่นี่นอกเหนือจากความงดงามของธรรมชาติแล้ว ยังมีไข่มุกเม็ดสวย อัญมณีแห่งสายน้ำเป็นสินค้าส่งออกไปถึงประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ร้านไข่มุกชื่อดังในเมืองมะริด ตั้งอยู่บนถนนปะเยจี ในบ้านสไตล์โคโลเนียลอายุ 150 ปี และเป็นร้านที่สั่งซื้อไข่มุกมากที่สุดในประเทศพม่าประจำปี 2001 จนได้รับประกาศนียบัตรจากทางรัฐบาล ร้านไข่มุก Royal Pearl แห่งนี้เปิดมาแล้วประมาณ 20 ปีและถือเป็นร้านแรกในเมืองมะริด ไข่มุกที่นี่มีด้วยกันหลายสี เช่น สีทอง สีเงิน สีทองแดง เป็นต้น และยังมีต่างหูมุกสำเร็จรูปจำหน่ายในราคา 180,000 จ๊าตหรือประมาณ 5,600 บาท
ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของเมืองมะริดคือปูนิ่ม ที่มะริดมีฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มขนาดใหญ่ มีมากกว่า 10 บ่อและแต่ละบ่อมีกล่องเลี้ยงปูนิ่ม 50,000 กล่อง และมีปูนิ่มเลี้ยงในฟาร์มทั้งหมดมากกว่า 500,000 ตัว นับเป็นฟาร์มปูนิ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน ASEAN ปัจจุบันพม่าเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลอันดับที่ 18 ของโลก ฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน ‘เยกู’ (KyweGu Village) บนเกาะปาเตท ปาถ่อง
มะริดได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าแห่งความสมบูรณ์เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ของประเทศพม่า เมื่อนั่งรถไปทางสะพานจวยกูใกล้ปากแม่น้ำตะนาวศรี จะพบอู่ต่อเรือและซ่อมเรือขนาดใหญ่ และบนเกาะปาถ่องปาเททก็มีอู่ต่อเรืออยู่ด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากคนพม่าที่นิยมมาต่อเรือและซ่อมเรือที่นี่แล้ว ยังมีคนไทยรวมอยู่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมะริดเป็นเมืองอุตสาหกรรมประมง การต่อเรือจึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เมืองตะนาวศรี (Tanintharyi หรือ Tenasserim) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของไทยและด้านใต้ของพม่าที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์การเดินทัพในสมัยก่อนเพราะเป็นเมืองหน้าด่านก่อนที่กองทัพของทั้งสองประเทศจะล่วงเข้าสู่ดินแดนของฝ่ายตรงข้ามเมืองตะนาวศรีนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 700 ปี ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำตะนาวศรี ในอดีตเมืองนี้มีความสำคัญในการขนส่งสินค้ามาทางเรือจากยุโรปและอินเดียเพื่อส่งต่อไปยังสยามประเทศ แต่หลังจากมีการพัฒนาท่าเรือมะริด บทบาทด้านการขนส่งสินค้าทางเรือของเมืองตะนาวศรีก็ลดลง ในปัจจุบัน ตะนาวศรีเป็นแค่เมืองเล็กๆ อยู่ไม่ไกลจากด่านสิงขร คนไทยพลัดถิ่นเรียกเมืองนี้ว่า ‘เมืองมะนาวสี่’ ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบพอเพียง มีตลาดอยู่ติดแม่น้ำตะนาวศรีและมีท่าเรือโดยสารขนาดเล็กอยู่ไม่ไกลกันนัก
ตามตำนานเล่าขานกันว่าในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งเมืองตะนาวศรีนั้นมักมีเหตุการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง ไม่ว่ากษัตริย์ไหนก็ตามก็ต้องเจอกับน้ำท่วมใหญ่เสมอ ผ่านล่วงมาจนถึงกษัตริย์องค์ที่ 53 พระองค์ได้เรียกโหรหลวงเข้ามาทำนายดวงเมืองและหาวิธีแก้ไขภัยน้ำท่วม โหรหลวงก็แนะนำว่าให้คนที่มีชื่อว่า 'อาว' ซึ่งแปลว่า 'ชัยชนะ' เสียสละชีวิตโดยการฝั่งร่างทั้งเป็นลงในหลุมใจกลางเมือง คล้ายเรื่องเล่าพระราชวังมัณฑะเลย์ ตำนานพิธีกรรมสำเร็จโทษเจ้านายในพม่า การฝังคนทั้งเป็นลงไปในหลุมตอนวางฐานรากสำคัญของเมืองเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนสมัยโบราณที่รับมาจากอินเดียเพื่อให้วิญญาณเป็นผีตายโหงอยู่เฝ้าเมือง คำแนะนำของโหรหลวงแพร่กระจายไปทั่วเมือง ในเวลานั้นมีหญิงสาวท้องแก่นามว่า 'พะอาวซา' อาศัยอยู่ในเมืองตะนาวศรี สามีล่วงรู้คำทำนายของโหรเข้าก็บอกให้ภรรยาห้ามออกจากบ้านเวลามีใครมาเรียกคนชื่ออาว แต่....ภรรยากลับเพิกเฉยต่อคำเตือนนั้นเลยถูกจับไป กษัตริย์เกลี้ยกล่อมอธิบายเหตุผลถึงการจับตัว จนพะอาวซายินยอมพร้อมเสียสละชีวิตต่อพิธีกรรมดังกล่าว หลุมขนาดพอฝังคนทั้งเป็นก็ถูกขุดขึ้นบริเวณใจกลางเมืองตะนาวศรีแล้วสาวท้องแก่ก็ถูกฝังลงตรงนั้นเพื่อให้วิญญาณดวงนั้นอยู่เฝ้าเสาหลักเมืองและดูแลบ้านเมืองไม่ให้เกิดเหตุเภทภัยใดๆ ต่อไป...หลังจากพิธีกรรมนั้นผ่านพ้นไป เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองตะนาวศรีก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย
สระน้ำกษัตริย์ราชมังคลา (คนตะนาวศรีเรียกว่า 'เมงกะลาก่า) อายุเจ็ดร้อยกว่าปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองตะนาวศรี ใกล้กับวัดเช่าแหง่เจ้าซึ่งมีอายุนับร้อยปี สระน้ำแห่งนี้สร้างขึ้นภายหลัง ‘พะอาวซา’ ซึ่งเป็นหญิงสาวท้องแก่ได้สละชีวิตของตัวเองผ่านพิธีกรรมฝังเสาหลักเมือง และเป็นสถานที่ปลงผมขอคนที่จะบวชในสมัยก่อนด้วย
หมู่บ้านสิงขรดอนจันทราหรือหมู่บ้านชาวไทยสิงขรนั้นอยู่ห่างจากด่านสิงขรประมาณ 40 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านชาวไทยพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่เขตนี้ และใกล้เคียงกันนั้นก็มีหมู่บ้านทองหลาง หมู่บ้านลำประเทง หมู่บ้านแหลมญวน และหมู่บ้านมุโพรง ตามประวัตินั้นมีคนไทยสยามจำนวนหนึ่งถูกกวาดต้อนและอพยพมาอยู่บริเวณเขตตะนาวศรีตั้งแต่หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) หลังการยึดครองของอังกฤษ ชาวไทยเหล่านี้จึงกลายเป็นสัญชาติพม่า
รังนกนางแอ่นเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของเมืองมะริด มีนกนางแอ่นนับร้อยนับพันตัวที่เข้ามาทำรังอยู่ในบ้านหลายแห่งของเมืองมะริด บางแห่งก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นกนางแอ่นมาทำรังโดยเฉพาะ รังนกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองมะริดอีกชนิดหนึ่ง