วีดีโอท่องเที่ยว

โรงแรมในเมืองมะละแหม่ง
ข้อมูลเมืองมะละแหม่ง

คนพม่าเรียกว่าเมือง ‘เมาะลำไย’ คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า ‘เมาะลำเลิง’ ส่วนคนมอญเรียกเมืองนี้ว่า ‘โมปลอง’ หรือ ‘โหมดแมะเหลิม’ ซึ่งแปลว่า ‘ตาพ่อเสีย’ ตรงข้ามกับเมือง ‘เมาะตะมะ’ ซึ่งแปลว่า ‘ตาสว่าง’ ตามตำนานกล่าวว่าพระเจ้าสามตาที่ภายหลังถูกขุนศึกและเมียรักทรยศหักหลังทำให้ตาที่สามบอด มนต์วิเศษเสื่อม จึงถูกพม่ารุกรานเสียบ้านเสียเมือง ได้สาปแช่งไม่ให้มอญรวมตัวกันสำเร็จ มะละแหม่งตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำที่บรรจบกันของแม่น้ำใหญ่ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำสาละวิน (Thanlwin) ซึ่งไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ แม่น้ำไจ (Kyaik) และแม่น้ำอัตตรัน (Attran) มะละแหม่งอยู่ห่างจากย่างกุ้ง 300 กม. อยู่ห่างจากเมืองทวาย 270 กม. ห่างจากชายแดนแม่สอดประมาณ 170 กม.และห่างจากด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนประมาณ 400 กม. มีประชากรราว 400,000 คน มะละแหม่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของพม่า (รองจากเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์) มีประชากรมากเป็นอันดับสี่รองจากย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ เมาะละแหม่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญและเป็นประตูสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในพม่าตอนใต้และเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่านทางด่านแม่สอด – เมียวดี และเคยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม นอกจากนั้นยังเป็นเมืองปลายทางสุดท้ายของเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) หรือระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก ที่เริ่มจากประเทศเวียดนามและมีความยาวประมาณ 1,450 กิโลเมตร มาสิ้นสุดลงที่เมือง “มะละแหม่ง” เมืองมะละแหม่งนั้นแวดล้อมไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น ทางด้านทิศเหนือก็ติดเมืองสะเทิมใกล้กับอ่าวเมาะตะมะหรือที่อังกฤษเรียกตามพม่าว่าเมือง Thaton ซึ่งเป็นเมืองที่ทั้งไทยและพม่าทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างก็ถือกันว่าที่นี่คือดินแดนทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่เรียกกันว่า ‘สุวรรณภูมิ’ ส่วนทางใต้นั้นก็ติดเมืองตันบูซายัด (Thanbyuzayat) ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีปลายทางของเส้นทางรถไฟสายมรณะที่เชื่อมต่อจากไทย ถูกสร้างขึ้นจากแรงงานของกรรมกรและเชลยศึกที่ควบคุมโดยกองทัพญี่ปุ่นระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2486 เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพลจากไทยไปยังพม่า และถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายลงในปี พ.ศ. 2488 เชลยศึกกว่า 13,000 คน ที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟความยาว 424 กม. ตลอดระยะเวลา 14 เดือน ต้องเสียชีวิตเพราะทารุณกรรม ขาดอาหาร และโรคภัยไข้เจ็บ คาดว่ายังมีพลเรือนชาวเอเชียที่ถูกบังคับใช้แรงงานอีกราว 80,000 – 100,000 คน เสียชีวิตลงในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ และไม่ไกลจากเมืองเมาะละแหม่งลงมาทางใต้ที่เมืองมูเดิง (Mudong) ก็เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า เรียกได้ว่าเมืองมะละแหม่งนั้นมีเรื่องราวทางประวัติศาสน์และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างมากมาย

การเดินทาง

เข้าทางด่านแม่สอด มะละแหม่งอยู่ห่างจากด่านแม่สอด 170 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง ถนนเส้นใหม่ที่ตัดหลบภูเขาดาวนา (Dawna Range) หรือเรียกกันว่า ‘ทิวเขาดอยมอนกุจู’ ที่มีความยาวประมาณ 38 กิโลเมตรซึ่งเชื่อมต่อไปยังเมืองกอกะเร็ก (Kawkareik) เปิดให้บริการแล้วและเป็นถนนลาดยางอย่างดี ไม่ต้องวิ่งสลับวันคู่วันคี่หรือที่เรียกกันว่า ‘ถนนวันละเวย์’ เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป

เข้าทางด่านพุน้ำร้อน มะละแหม่งอยู่ห่างจากด่านพุน้ำร้อนประมาณ 400 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองทวายประมาณ 270 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากเมืองทวายไปมะละแหม่งประมาณ 7 ชั่วโมง เรียกว่า ‘ถนนสาย 8’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนเอเชีย AH112 ถนนช่วงนี้ลาดยางตลอดเส้น แต่ถนนจากด่านพุน้ำร้อนไปถึงกิ่งอำเภอเมตตา (Myitta Sub-Township) ของเมืองทวายจะเป็นถนนลูกรัง ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตรและใช้เวลาเดินทางจากด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนไปทวายประมาณ 4-5 ชั่วโมง (2559)

จากย่างกุ้ง – มะละแหม่ง มะละแหม่งอยู่ห่างจากย่างกุ้ง 300 กิโลเมตร ถนนจากย่างกุ้งมาที่เมืองมะละแหม่งเป็นถนนไฮเวย์อย่างดี และใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีรถไฟวิ่งจากย่างกุ้งมาที่เมืองมะละแหม่งด้วยเช่นกัน ซึ่งมี 3 เที่ยวต่อวัน เที่ยวแรกออกจากย่างกุ้งเวลา 07:15 น. เที่ยวที่สองออกเวลา 18:25 น. และเที่ยวกลางคืนออกจากย่างกุ้งเวลา 21:00 น. รถไฟใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง (กรกฎาคม 2559)

ทางเครื่องบิน สนามบินที่เมืองมะละแหม่งเป็นสนามบินขนาดเล็กและมีเที่ยวบินของ Myanmar Airways International (MAI) มาลงสัปดาห์ละ 2 เที่ยว แต่ยังไม่มีสายการบินระหว่างประเทศมาลง (2559) ซึ่งก่อนหน้านี้มีสายการบินนกแอร์เคยเปิดให้บริการเส้นทางแม่สอด – มะละแหม่ง แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว

เจดีย์ไจท์ตะลาน

เจดีย์ไจท์ตะลาน (Kyaikthanlan Phayar) ตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเขาที่ มองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองมะละแหม่งได้ 360 องศาที่สวยงามและมองเห็นสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวลายามเย็น พระอาทิตย์ใกล้ลับฟ้า จะเห็นภาพของเมืองมะละแหม่งและวิวทิวทัศน์ของปากแม่น้ำใหญ่ทั้งสามสายมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำไจท์ และแม่น้ำอัตรัน ที่งดงามมากยิ่งขึ้น เจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1418 ในรัชสมัยของพระเจ้าสามตา พระองค์ได้ทรงอัญเชิญเส้นพระเกศาและพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ที่นี่แล้วสร้างเจดีย์ครอบไว้ด้วยความสุงขนาด 55 ศอก ต่อมาก็ได้มีการบูรณะต่อเติมจนมีขนาดเท่ากับทุกวันนี้ ซึ่งมีความสูง 150 ฟุต และกว้าง 45 ฟุต อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เดิม เจดีย์นี้ชื่อ ‘เจดีย์ไจ๊ชานลาน’ แปลว่า ‘เจดีย์สยามพ่าย’ เนื่องมาจากในครั้งที่สยามไปตีพม่า แล้วเกิดท้าทายให้สร้างเจดีย์แข่งกัน พม่าใช้โครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวหลอกทหารไทยจนทหารไทย พ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับเมืองไทย เจดีย์ที่กองทัพไทยสร้างค้างเอาไว้แค่ครึ่งองค์นั้นต่อมาพม่า ได้กลับมาบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์เหมือนในปัจจุบัน นอกจากนั้นตามตำนานรักอมตะ ‘มะเมียะ’ ยังเป็นสถานที่ที่มะเมียะกับเจ้าน้อยศุขเกษมมาสาบานรักร่วมกัน ณ ลานหน้าพระธาตุไจท์ตะลาน ว่า จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น จนเมื่อความรักมีอุปสรรค มะเมียะต้องมาขอถอนคำสาบาน และเธอก็ขอครองเพศบรรพชิต ที่วัดนี้จนสิ้นอายุขัยเมื่ออายุประมาณเจ็ดสิบกว่าปี (ล่วงลับไปเมื่อ ประมาณปี พ.ศ 2505)

เจดีย์ไจท์มอยอ

เจดีย์ไจท์มอยอ (Kyaikmaraw) ตั้งอยู่ที่เมืองไจท์มอยอ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของเมืองมะละแหม่ง อยู่ห่างจากเมืองมะละแหม่ง 24 กิโลเมตร มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ซูตองปิ พะยาจี ไจท์มอยอ’ ประดิษฐานพระพุทธรูปห้อยขาพระพักตร์สีขาวที่โดดเด่นและแตกต่างจากพระพุทธรูปองค์ อื่นๆ ในเมืองมะละแหม่ง ลักษณะการนั่งนั้นเป็นแบบทางตะวันตกสร้างโดยพระนางฉิ่นสอพู (Shin Saw Pu) ในปี พ.ศ. 1998 (ค.ศ.1455) พระนางเป็นกษัตริย์หญิงแห่งอาณาจักรมอญเพียงพระองค์เดียวที่ปกครองชาวมอญ เป็นเวลา 17 ปี และภายในพระพุทธรูปมีการบรรจุพระสาริกธาตุของพระพุทธเจ้าด้วย บริเวณโดยรอบพระประธาน มีพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย และเล่ากันว่าชาวบ้านเคยนำโซ่มาล่ามองค์พระไว้เพราะครั้งหนึ่งเคยหนีหายไป นอกจากนั้นวัดไจท์มอยอยังเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับฝีมืองานกระเบื้องเคลือบที่สวยงามอีกด้วย และในอาคารที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักก็มีไข่พญานาคที่แข็งเป็นหินเก็บรักษาไว้ในตู้ ซึ่งมีการขุดพบตอนที่สร้างเจดีย์แห่งนี้ จุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือถนนต้นตาลระหว่างทางไปเมืองไจท์มอยอที่งดงามจนกลายเป็นเส้นทางมหานิยมของใครหลายคนที่มาเที่ยวเจดีย์ไจท์มอยอแห่งนี้

พระธาตุอินแขวน

พระธาตุอินแขวน (Kyaiktiyo Pagoda) หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘ไจท์ทีโย’ เป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องขึ้นไปสักการะพระธาตุองค์นี้ก่อนตายเพื่อเป็นการเสริมสร้างสิริมงคล เสริมดวงชะตาราศีให้เจริญรุ่งเรือง และเป็นการสร้างสมบุญกุศลอย่างสูง นอกจากนั้นพระธาตุอินแขวนนี้ยังเป็นพระเจดีย์ประจำปีจอตามคตินิยมของชาวล้านนาอีกด้วย พระธาตุอินแขวนตั้งอยู่ที่เมืองไจท์โถ่ (Kyaikto) หรืออำเภอสะเทิมในรัฐมอญ เขตพื้นที่พม่าตอนใต้ มีความสูง 5.5 เมตร ตั้งอยู่บนก้อนศิลาใหญ่ปิดทองหมิ่นเหม่อยู่บนหน้าผา งดงามด้วยสีทองเหลืองอร่าม โดดเด่นน่าเลื่อมใสศรัทธาและท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลกยิ่งนัก ตามตำนานกล่าวว่ามีฤาษีติสสะผู้หนึ่งได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าที่ได้มอบให้ไว้เป็นตัวแทนพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ แต่ว่าฤาษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม พอเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤาษีติสสะจะต้องละสังขาร โดยมีความตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของตน จึงให้พระอินทร์ช่วยหาก้อนหินที่มีลักษณะเหมือนกับศีรษะซึ่งได้มาจากใต้ท้องมหาสมุทรและก็ให้พระอินทร์นำมาวางหรือแขวนไว้บนภูเขาหิน จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระธาตุอินแขวน” เล่าลือกันมาแต่โบราณว่าแต่ก่อนนั้นพระธาตุอินแขวนนี้ลอยอยู่เหนือพื้นหินจริงๆ และแม่ไก่สามารถลอดเข้าไปกกไข่ได้ แต่ต่อมาเมื่อจิตใจมนุษย์ตกต่ำลง ทำให้องค์พระธาตุลอยต่ำลงมาจนชิดกับพื้นหินของยอดเขาหมิ่นเหม่จะตกแหล่ไม่ตกแหล่ แต่องค์พระเจดีย์ก็ยังตั้งอยู่เป็นอัศจรรย์ตราบจนทุกวันนี้ และพระธาตุอินแขวนยังเป็นแรงบันดาล ใจของกวีซีไรท์ คุณมาลา คำจันทร์ ที่แต่งวรรณกรรมเรื่อง ‘นิราศเจ้าจันทร์ผมหอม’ อีกด้วย

เจดีย์ไจท์คามิ

เจดีย์ไจท์คามิ เหย่เล พญา (Kyaikkami Yele Paya) หรือพระเจดีย์กลางทะเลถือเป็นเจดีย์ในน้ำแห่งที่สองของพม่า ซึ่งแห่งแรกนั้นอยู่ที่เมืองสิเรียม (Thanlyin) ตั้งอยู่ที่เมืองตันบูซายัด (Thanbyuzayat) หรือที่รู้จักกันในสมัยอยุธยาว่า’เชียงกราน’ และต่อมาในช่วงอาณานิคมอังกฤษเปลี่ยนเป็น ‘Amherst’ (อัมเฮิร์ส) อยู่ห่างจากเมืองมะละแหม่งไปทางทิศใต้ประมาณ 48 กิโลเมตรและมีตำนานเกี่ยวพันกับวัดเจดีย์ชินโมทิพญาที่เมืองทวาย องค์พระประธานของเจดีย์นั้นทำจากปูนผสมกับชิ้นส่วนของไม้ศรีมหาโพธิ์ ต้นที่พระองค์ทรงประทับบำเพ็ญเพียรอยู่จนตรัสรู้กล่าวกันว่ามี 4 องค์ มีผู้นำมาประดิษฐานบนแพลอยมาจากลังกา องค์หนึ่งลอยมาที่เมืองพะสิม (Pathein) องค์หนึ่งมาที่เมืองไจท์คามิ องค์หนึ่งมาที่ เมืองไจท์โท (Kyaikto) ส่วนอีกองค์หนึ่งลอยมาถึงเมืองทวาย (Dawei) พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวนี้ประดิษฐานไว้ในหอพระใต้พระวิหารพร้อมพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 11 เส้น จึงมีพะยาลูจีหรือไวยาวัจกรคอยเฝ้าอยู่ตรงทางขึ้นพระวิหารทุกทิศเพื่อห้ามสตรีขึ้นไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

วัดพระนอนวินเส่งตอยะ

วัดพระนอนวินเส่งตอยะ (Win Sein Taw Ya Reclining Buddha) ถือเป็นวัดพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก องค์พระนอนมีความยาว 180 เมตร และสูง 30 เมตร ภายในแบ่งเป็นชั้นๆ ถึง 8 ชั้นแต่ละชั้นมีห้องต่างๆ ที่ประกอบด้วยรูปปูนปั้นแสดงเรื่องราวชาดก 10 ชาติ พุทธประวัติ และคำสอนต่างๆ ในพุทธศาสนา เช่น เรื่องนรกสวรรค์และผลแห่งกรรม เป็นต้น วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองมูเดิง (Mudon) ซึ่งห่างจากเมืองมะละแหม่งไปทางทิศใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยหลวงพ่ออูชินะ (U Zina) โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ และในปี ค.ศ. 2012 ก็มีการสร้างพระนอนองค์ใหม่ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามพระนอนวินเส่งตอยะขึ้นมาอีกองค์หนึ่งแต่ก็ยังสร้างไม่เสร็จเช่นกัน (พ.ศ. 2559) ในทุกเดือนกุมภาพันธ์ จะมีงานเฉลิมฉลองครบรอบวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ อูชินะ ที่วัดพระนอนแห่งนี้ บรรยากาศในช่วงนั้นจะคึกคักเป็นอย่างมาก มีการแสดงและแข่งขันกีฬาต่างๆ อย่างสนุกสนาน

พระพุทธรูปจำลองมหามุนี

พระพุทธรูปจำลองมหามุนี (The Replica of Maha Muni Paya) ได้รับอิทธิพลมาจากองค์พระพุทธรูปมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์ ประดิษฐานอยู่ที่วัด ‘มหาเมี๊ยะมุนีพยาจี’ และวัด ‘ยาดานา บอน มิ้นท์’ หรือที่ชาวมะละแหม่งเรียกว่า ‘วัดเส่งด่ง’ (Sein Don) เพราะเคยเป็นที่ประทับของพระนาง Sein Don Mibaya-gyi หนึ่งในพระมเหสีของพระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่าแห่งมัณฑะเลย์ (ภายหลังที่อังกฤษผนวกมัณฑะเลย์และรัฐฉานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษแล้ว) พระนางมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระพุทธรูปมหามุนีที่เมืองมัณฑะเลย์จึงรับสั่งให้สร้างองค์จำลองขึ้นในปี ค.ศ. 1904 ที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่รู้จักกันดีในงานแกะสลักไม้อย่างสวยงามเหมือนพระตำหนักที่เมืองมัณฑะเลย์โดยเฉพาะอาสนบัลลังก์ที่แกะสลักไม้และเครื่องประดับอย่างสวยงาม

โบสถ์ St. Patrick’s

โบสถ์ St. Patrick’s ตั้งอยู่ใจกลางเมืองมะละ แหม่งและเป็นหนึ่งในตัวอย่างอาคารเก่าแก่สไตล์ยุโรปที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองหลวงของรัฐมอญแห่งนี้ พอเอ่ยถึงโบสถ์ St. Patrick’s หนึ่งในตำนานรักอมตะที่คนไทยรู้จักกันดีคือความรักระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมและมะเมี๊ยะ เจ้าน้อยศุขเกษมเคยมาเล่าเรียนศึกษาก่อนจะพบรักกับสาวแม่ค้าชาว พม่านามมะเมี๊ยะจนเกิดเป็นตำนานรักและจรัล มโนเพชร ก็นำมาแต่งเป็นบทเพลงขับร้องจนโด่ง ดังไปทั่ว ซึ่งตรงกับการให้สัมภาษณ์ของคุณพ่อ Stanis Pitchai แห่งโบสถ์ St. Patrick’s เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ที่เล่าว่าครั้งหนึ่งเคยมีเจ้าชายไทยมาร่ำเรียนที่นี่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาแต่ไม่ได้เอ่ยถึงตำนานรักมะเมี๊ยะแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีโบสถ์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น โบสถ์ Holy Family ซึ่งถือว่าเป็นโบสถ์ที่สวยที่สุดในเมืองมะละแหม่ง

พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟสายมรณะ

พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟสายมรณะ (Death Railway Museum) แห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองตันบูซายัด (Thanbyuzayat) ห่างจากเมืองมะละแหม่งไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นสถานีปลายทางเส้นทางรถไฟสายมรณะซึ่งสร้างขึ้นจากแรงงานของกรรมกร และเชลยศึกที่ควบคุม โดยกองทัพญี่ปุ่นระหว่างปี 2485 - 2486 เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพล จากไทยไปยังพม่า และถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายลงในปี 2488 เชลยศึกกว่า 13,000 คน ที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟความยาว 424 กม. ตลอดระยะเวลา 14 เดือน ต้อง เสียชีวิตลงเพราะทารุณกรรม ขาดอาหารและโรคภัยไข้เจ็บ ผ่านป่าหนาทึบและภูเขาคาดว่ายังมี พลเรือนชาวเอเชียที่ถูกบังคับใช้แรงงานอีกราว 80,000- 100,000 คน เสียชีวิตลงในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดแสดงรางรถไฟสายมรณะที่ค้นพบโดยอดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศพม่า Mr. Trevor Wilson มีหัวรถจักรไอน้ำจากพิพิธภัณฑ์เมือง Yokohama ที่ทางการญี่ปุ่นบริจาคให้ และมีรูปภาพเล่าเรื่องราวเหตุการณ์การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะแห่งนี้อยู่ภายในอาคารหลังใหม่ที่มีภาพถ่ายสามมิติอยู่ด้วย

สุสานทหารสัมพันธมิตร

สุสานทหารสัมพันธมิตร (War Cemetery) ตั้งอยู่ใจกลางเมืองตันบูซายัด (Thanbyuzayat) ห่างจากเมืองมะละแหม่งไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นสถานที่ฝังศพของเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะทางฝั่งพม่าซึ่งมีทั้งหมด 3,771 ศพที่ฝังอยู่ในสุสานแห่งนี้ สุสานแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรักที่จังหวัดกาญจนบุรีและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อไม่นานมานี้เอง

หาดเซทเซ (Setse)

หาดเซทเซ (Setse) เป็นชายหาดตั้งอยู่ที่เมืองตันบูซายัด (Thanbyuzayat) ห่างจากเมืองมะละแหม่งไปทางทิศใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร หาด Setse เป็นสถานที่พักตากอากาศมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนกายที่ขึ้นชื่อของรัฐมอญ บริเวณตามแนวชายหาดมีต้นสนขึ้นเรียงรายอยู่เต็มไปหมด มีร้านค้ามากมายทั้งร้านอาหารและร้านขายของฝาก และมีบริการขี่ม้าไปตามชายหาดด้วย บรรยากาศที่นี่คล้ายกับหาดมอมะกันที่เมืองทวาย มีกลิ่นอายเหมือนหาดชะอำ

ตลาดเซจี

ลาดเซจี (Zei Gyi Market) นับเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมะละแหม่งเสมือนศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองไปทางถนนเส้น Strand Road ตลาดแห่งนี้จำหน่ายสินค้าหลายอย่าง ตั้งแต่ พืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ สินค้าอุปโภค บริโภค เสื้อผ้า และบริเวณใกล้กันนั้นก็มีห้าง Myine Yadanar Center (MYC) ตั้งอยู่ด้วย ตลาดเซจีแห่งนี้มีการปรับปรุงใหม่เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2552 ภายหลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2551 และว่ากันว่าเป็นตลาดที่เจ้าน้อยศุขเกษมได้พบกับมะเมี๊ยะแม่ค้ามวนบุหรี่ขาย แล้วก็เกิดตกหลุมรัก...

ห้าง Ocean Super Center

ห้าง Ocean Super Center เป็นห้างสัญชาติพม่าแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในพม่า เปิดให้บริการครั้งแรกที่ย่างกุ้งเมื่อปี ค.ศ. 2006 ต่อมาขยายสาขาไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ สาขามะละแหม่งมีการเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2016 เป็นห้างสมัยใหม่แห่งเดียวและแห่งแรกของรัฐมอญ (2559) ชั้นแรกเป็นร้านค้าปลีก จำหน่ายสินค้าประเภทมือถือ นาฬิกา ส่วนชั้นสองจำหน่ายพวกเสื้อผ้า ของเด็กเล่น และอาหาร เป็นต้น สินค้าส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

วัดโกหยิ่นเลพญา

วัดโกหยิ่นเลพญา (Koyinlay Paya) หรือวัดเณรน้อย ซึ่งเป็นวัดที่ชาวมอญเคารพศรัทธามากอีกแห่งหนึ่งในรัฐมอญ สร้างโดยหลวงพ่อเณรน้อย พระอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองเย วัดโกหยิ่นเลพญาแห่งนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่ทิศองค์ใหญ่และมีองค์พระพุทธไสยาสน์ (Shwethalyaung Buddha) ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ใกล้กัน บริเวณเดียวกันนี้ ยังมีองค์พระเจดีย์ทรงปราสาทที่มีความสวยงามโดดเด่นแตกต่างจากเจดีย์พม่าทั่วไปตั้งอยู่ด้วย วัดโกหยิ่นเลพญาตั้งอยู่ที่เมืองเย (Ye) ในรัฐมอญ อยู่ห่างจากเมืองมะละแหม่ง 140 กิโลเมตร

รู้จักพม่าตอนใต้
พม่าตอนใต้ (Southern Myanmar) แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ยังสงบ สะอาด บริสุทธิ์ และสะดุดตา อยู่ใกล้ชิดติดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ประกอบไปด้วย รัฐมอญ (Mon State) รัฐกะเหรี่ยง (Karen State) และเขตตะนาวศรี (Tanintraryi Division) เมืองเหล่านี้รุ่มรวยไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม จากดินแดนหุบเขาแห่งรัฐกะเหรี่ยงลัดเลาะผ่านแม่น้ำสาละวินถึงรัฐมอญ และทอดยาวสู่ขุนเขาตะนาวศรีไปจนถึงหมู่เกาะมะริด 800 เกาะ ด้วยพื้นที่ประมาณ 86,000 ตารางกิโลเมตร ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน 320 กิโลเมตรและประชากรราว 5,000,000 คน พม่าตอนใต้จึงเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวและนักสำรวจมิอาจมองข้ามไปได้ อ่านต่อ >>>